xs
xsm
sm
md
lg

CPF ชูโมเดล รง.แปรรูปไข่บ้านนา นำเปลือกไข่บดจากกระบวนการผลิต หนุนประโยชน์สู่ชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าบริหารจัดการทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุดตลอดกระบวนการผลิตควบคู่ดูแลสิ่งแวดล้อม ชูโมเดลโรงงานแปรรูปไข่บ้านนา จังหวัดนครนายก นำเปลือกไข่บดจากกระบวนการผลิต แบ่งปันให้เกษตรกรในพื้นที่ทำปุ๋ย ช่วยลดต้นทุนทางการเกษตร สร้างความมั่นคงทางอาหาร และเน้นผลผลิตอาหารปลอดภัย สอดรับเป้าหมายความยั่งยืนขององค์กร ลดขยะ และขยะอาหารสู่หลุมฝังกลบให้เป็นศูนย์ใน ปี 2030 และเดินตามเป้าหมาย SDGs


นางวรรณทนีย์​ ชำนาญเศรษฐการณ์​ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรตลอดกระบวนการผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการนำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ ขณะเดียวกัน บริษัทฯ เดินตามเป้าหมายความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ เครือซีพี ลดขยะและขยะอาหารสู่หลุมฝังกลบให้เป็นศูนย์ภายในปี 2030 (Zero Food Waste to Land Fill) โดยตั้งคณะทำงาน “สร้างคุณค่า ไร้ขยะ... Waste to Value” ขึ้น เพื่อบริหารจัดการด้านลดการสูญเสียอาหาร (Food Loss), ขยะอาหาร (Food Waste) และบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน (Sustainable Packaging) ขับเคลื่อนการดำเนินการภายใต้กรอบแนวปฏิบัติสากลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) : food loss and waste protocol (FLW)


ภายใต้เป้าหมายดังกล่าว ในส่วนของโรงงานแปรรูปไข่บ้านนา จังหวัดนครนายก มีการบริหารจัดการเปลือกไข่จากกระบวนการผลิต ปีละเฉลี่ย 1,000 ตัน โดยดำเนินโครงการ “ปุ๋ยอินทรีย์จากเปลือกไข่บด” ตั้งแต่ปี 2557 นำเปลือกไข่บดกระจายให้เกษตรกรในพื้นที่นำไปหมักทำปุ๋ย หรือนำไปผสมเตรียมดินเพื่อใช้ปลูกต้นไม้ โรยที่โคนต้นไม้ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับสถานีพัฒนาที่ดินนครนายก อบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรทำปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อให้คนในชุมชนและเกษตรกรนำปุ๋ยอินทรีย์จากเปลือกไข่บดไปใช้ให้เกิดประโยชน์ สามารถช่วยลดต้นทุนทางการเกษตร ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมี สร้างความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือน และเป็นการส่งเสริมชุมชนบริโภคผลผลิตที่ปลอดภัย เป็นการสร้างประโยชน์สูงสุดในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ตัดวงจรการนำเปลือกไข่ไปทิ้งสู่หลุมฝังกลบ (Waste to Landfill) สร้างผลกระทบเชิงบวกสู่ชุมชนและสังคมโดยรอบ และยังเป็นโครงการที่สอดรับตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals :SDGs) อาทิ ขจัดความอดอยากและสร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ส่งเสริมความยั่งยืนในระบบนิเวศบนบก และการสร้างความร่วมมือกับเครือข่าย เป็นต้น


ทั้งนี้ ในปี 2563 โรงงานมีปริมาณเปลือกไข่จากกระบวนการผลิตทั้งหมด 1,302 ตัน จัดสรรให้เกษตรกร 65% และอีก 35% นำไปใช้ปรับพื้นที่ในโรงงาน ขณะที่ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค.- เม.ย. 64) มีปริมาณเปลือกไข่ 520 ตัน ปัจจุบันมีเกษตรกรในพื้นที่ประมาณ 80 ราย ที่ได้รับประโยชน์ และมีการขยายสู่กลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง


“ภายใต้ปรัชญา 3 ประโยชน์ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือเครือซีพี และซีพีเอฟ ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และมองประโยชน์ของบริษัทเป็นลำดับสุดท้าย ซีพีเอฟปลูกฝังพนักงานมุุ่งมั่นทำความดีและสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน ซึ่งโครงการปุ๋ยอินทรีย์จากเปลือกไข่บด ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่พวกเราดีใจที่ได้มีส่วนร่วมทำสิ่งดีๆให้กับชุมชน และเป็นโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนขององค์กร” นางวรรณทนีย์ กล่าว


นางสาววิลาวัลย์ เรียนเวช นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สถานีพัฒนาที่ดินนครนายก กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ซึ่งทางโรงงานแปรรูปไข่บ้านนา มีโครงการ “ปุ๋ยอินทรีย์จากเปลือกไข่บด” ทางสถานีพัฒนาที่ดินนครนายก ได้ประสานกับโรงงาน เพื่อขอนำเปลือกไข่บดมาให้เกษตรกรใช้ประโยชน์โดยหมักเป็นปุ๋ย หรือบางรายก็นำเปลือกไข่บดไปเทใส่ในดินหรือโคนต้นไม้ ซึ่งเปลือกไข่บดมีคุณสมบัติช่วยให้โครงสร้างของดินดีขึ้น ทำให้ดินโปร่งขึ้น ส่งผลให้รากของพืชชนิดต่างๆ สามารถชอนไชหาอาหารได้ดีขึ้น และยังช่วยเพิ่มปริมาณธาตุอาหารของพืชในดิน ทำให้ผลผลิตเติบโตได้ดี เกษตรกรมีผลผลิตเพิ่มขึ้น 10-15% ที่สำคัญ คือ เปลือกไข่บดช่วยลดต้นทุนของเกษตรกร ขอบคุณซีพีเอฟที่นำเปลือกไข่ที่เหลือจากการผลิตมาเพิ่มทางเลือกในการปรับปรุงดิน และเกิดประโยชน์กับเกษตรกร


นายเกรียงไกร วงศ์ทวีวัฒนา อายุ 57 ปี อาชีพทำการเกษตรและนำผลผลิตเกษตรอินทรีย์ส่งจำหน่าย เล่าว่า ได้รับคำแนะนำจากคุณครูของ ร.ร.คลองโพธิ์ ซึ่งขอรับเปลือกไข่จากโรงงานของซีพีเอฟอยู่แล้ว จึงอยากจะนำเปลือกไข่มาทดลองกับผักและผลไม้ที่สวน โดยขอรับเปลือกไข่บดจากโรงงานมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบันที่เข้าไปรับเปลือกไข่บดมาครั้งละ 1 ตัน สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง นำมาผสมกับแกลบดำ ปุ๋ยคอก หญ้า ฟาง ใส่น้ำหมักและทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ นำไปใส่โคนต้นไม้ สังเกตได้ว่า เปลือกไข่บดมีส่วนช่วยปรับปรุงสภาพดินให้มีความโปร่งขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตเติบโตได้ดี ต้องขอขอบคุณในความเอื้อเฟื้อของซีพีเอฟที่มีต่อเกษตรกรในพื้นที่ เป็นเรื่องที่ดีที่บริษัทฯมีโครงการอย่างนี้ และอยากจะให้ช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป


ด้าน นางวารินทร์ สุขชม เพิ่งเกษียณอายุราชการจากอาชีพครู กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณซีพีเอฟ ที่นำเปลือกไข่บดของโรงงานฯมาให้คนในพื้นที่จังหวัดนครนายกใช้ประโยชน์ เช่นเดียวกับที่บ้านซึ่งอยู่ใกล้โรงงานแปรรูปไข่บ้านนาอยู่แล้ว จึงขอเปลือกไข่บดจากโรงงานมาใส่ต้นไม้ ตั้งแต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในช่วงที่ยังทำงานอยู่ จะนำรถกระบะไปบรรทุกเปลือกไข่จากโรงงานทุกวันเสาร์ ครั้งละประมาณ 1 ตัน แต่ช่วงปิดเทอมจะเข้าไปรับเปลือกไข่มาทุกวัน จนถึงปัจจุบันก็ยังไปรับเปลือกไข่จากโรงงานฯอยู่ โดยนำมามาโรยที่โคนต้นไม้ เปลือกไข่บด ช่วยให้ต้นไม้ ไม้ผลต่างๆ เติบโตได้ดี ผลผลิตลูกใหญ่ขึ้น เช่น มะพร้าว กะท้อน กล้วย มะนาว มะละกอ ฯ ทำให้ได้บริโภคผัก ผลไม้ ที่ปลอดภัย เพื่อนบ้านมักจะมาถามว่าทำไมต้นไม้ที่บ้านเติบโตดี ก็จะแนะนำต่อว่าทางโรงงานของซีพีเอฟมีเปลือกไข่บดที่นำมาใช้เป็นปุ๋ยได้ ตอนนี้ในพื้นที่ที่เหลือเริ่มนำต้นไม้มาปลูกเพิ่มขึ้น และใช้เปลือกไข่จากโรงงานของซีพีเอฟโรยโคนต้นไม้ ช่วยให้ต้นไม้เติบโตได้ดี และยังมีส่วนช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีกด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น