xs
xsm
sm
md
lg

EV มาแน่ ส.อ.ท.เตรียมรับมือ จ่อคลอดแผนพลังงานแห่งชาติฉบับประชาชน ก.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มอุตฯ พลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท.เร่งระดมสมองจัดทำร่างแผนพลังงานแห่งชาติฉบับภาคประชาชนหวังประกบฉบับภาครัฐ ลุ้นคลอด ก.ค.-ส.ค.นี้ เตรียมพร้อมรับการมาของ EV ที่จะเปลี่ยนโฉมพลังงานไทยไปสู่พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น กระทบอุตฯ น้ำมัน และชิ้นส่วนยานยนต์ต้องวางแผนรับมือ

นายอาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน กรรมการและเลขานุการ สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท.อยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) ฉบับภาคประชาชน โดยจะมีการระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนเข้ามาประกอบการจัดทำแผน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกรกฎาคม-สิงหาคมนี้

“ภาครัฐกำลังจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติอยู่ เราจะทำประกบพื่อให้เห็นถึงมุมมองของภาคประชาชนที่มีการระดมความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิในทุกภาคส่วนทั้งนักวิชาการ เอกชน ประชาชน เข้ามาจัดทำ ซึ่งขณะนี้เราเริ่มมีการระดมความเห็นแล้ว สาเหตุของการจัดทำเพราะที่ผ่านมาการจัดทำแผนพลังงานต่างๆของรัฐมีข้อจำกัดในการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่ครอบคลุม เราจึงทำประกบออกมาแต่ละเรื่องมีความเห็นอย่างไรเพื่อหวังว่ารัฐจะนำไปประกอบการตัดสินใจในระดับนโยบายไม่มากก็น้อย” นายอาทิตย์กล่าว

ทั้งนี้ แผนดังกล่าวส่วนหนึ่งจะมุ่งตอบโจทย์เทรนด์พลังงานโลกโดยเฉพาะการมาของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งชัดเจนว่าจะมาแน่นอนและไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพราะ EV จะเข้ามาแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน แม้จะส่งผลทั้งบวกและลบต่อไทยแต่เบื้องต้นประเมินแล้วจะเป็นผลบวกมากกว่าเสีย โดยผลกระทบจะมี 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมน้ำมันจะได้รับผลกระทบชัดเจนในระยะ 10-15 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในภาคขนส่ง เพราะการมาของ EV และการใช้พลังงานไฟฟ้าก็จะเปลี่ยนรูปแบบเป็นไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดซึ่งก็คือพลังงานหมุนเวียน (RE) เพื่อตอบโจทย์ลดโลกร้อนให้สอดรับกับ EV

ดังนั้น อุตสาหกรรมน้ำมันที่ปัจจุบันไทยส่งเสริมการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งเอทานอล และไบโอดีเซล ที่มาจากอ้อยและปาล์มเพื่อสนับสนุนราคาสินค้าเกษตรย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย ดังนั้น แนวทางเบื้องต้นจะต้องผลักดันไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มแทน เช่น ไบโอพลาสติก อุตสาหกรรมโอลีโอเคมี (Oleochemical Industry) เป็นต้น ขณะเดียวกัน รายได้จากภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่ถือเป็นรายได้ที่สำคัญของประเทศปีละประมาณเกือบ 2 แสนล้านบาทจะลดต่ำลง จำเป็นที่รัฐจะต้องวางโครงสร้างภาษีฯ ใหม่รองรับเพื่อไม่ให้กระทบฐานะการคลัง

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของผลบวก การที่รูปแบบพลังงานจะเน้นพึ่งพิงพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นจะทำให้ไทยที่ปัจจุบันต้องนำเข้าน้ำมันดิบเกือบ 100% จะส่งผลดีให้ไทยลดการนำเข้าลงและสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้มากขึ้น ทั้งพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ เป็นต้น และที่สำคัญยังสามารถลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมทำให้ไทยไม่ตกขบวนลดโลกร้อนตามเทรนด์ของโลก

ผลกระทบที่ 2 คือ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตไทยและเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SME) ที่มีจำนวนหลายหมื่นรายจะประสบความเดือดร้อนเพราะ EV จะเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชิ้นส่วนอย่างสิ้นเชิงจากรถยนต์สันดาป (ICE) ซึ่งภาครัฐและผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งปรับตัวไปสู่ EV แทน และใช้โอกาสนี้หนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ในภูมิภาคด้วยศักยภาพที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเห็นว่าหากการปรับตัวยิ่งประวิงเวลาและช้าผลกระทบจะมีมากขึ้น

“แผนที่เราจัดทำจะมุ่งสร้างความสมดุลทั้งความมั่นคงด้านพลังงาน ค่าไฟฟ้าที่จะต้องเหมาะสมเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และสุดท้ายคือการก้าวไปพร้อมๆ กับเทรนด์โลกที่จะเปลี่ยนแปลงในการลดโลกร้อนซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ โดยรายละเอียดคงจะต้องรอ 3-4 เดือนที่เราตั้งใจจะให้เสร็จ” นายอาทิตย์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น