พลาย ภิรมย์ ผู้จัดการโครงการเสริมสร้างการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน WWF-ประเทศไทย แนะนำวิธีการกินลดโลกร้อน ที่สามารถเริ่มต้นจากตัวเองแบบง่ายๆ และข้อความสำคัญที่เขาบอกไว้ในคลิปนี้ นั่นก็คือ
"เราเลือกกินได้ เลือกกินของที่ดีกว่า เลือกกินอาหารที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม"
เขาก้าวเข้ามาทำงานด้านสิ่งแวดล้อม และทำให้เขาเรียนรู้ถึงความจริงที่ว่า “โลกจะอยู่อย่างยั่งยืนได้ เมื่อมนุษย์ลดความเป็นตัวเองออกระดับหนึ่ง”
เครดิตคลิป Greenery
ความมุ่งมั่นของพลายที่จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจาก “ต้นน้ำ” เป็นการแก้ที่ต้นตอ คือพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งจะต้องมีจุดเริ่มต้นเล็กๆ จากการปรับพฤติกรรมตนเอง สู่การทำงานเพื่อเพื่อนมนุษย์ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม
“หลายคนอาจสงสัยว่า องค์กรสิ่งแวดล้อมอย่าง WWF ที่เหมือนจะเป็นองค์กรสัตว์ป่า แต่ผมเข้ามาทำงานอะไรกับงานด้านการผลิตและบริโภค จริงๆ แล้วถ้ามองออกไป ต้นเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมก็คือตัว มนุษย์เองนี่แหละ หากมนุษย์มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ไม่ยั่งยืน การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมย่อมไม่อาจสำเร็จได้ หากว่าเราไม่ปรับแก้ที่พฤติกรรมของมนุษย์ก่อน”
“เพราะเราชอบคิดว่าทุกอย่างจะต้องตอบโจทย์มนุษย์ เราพยายามเอาวิทยาศาสตร์มาแก้ไขเพื่อเอาชนะธรรมชาติ แต่จริง ๆ แล้วมนุษย์ไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ เราต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ว่าเราจะอยู่กับธรรมชาติอย่างไรให้สมดุลได้มากที่สุด”
“จริง ๆ แล้วการช่วยโลกแบบง่ายที่สุดคือการเปลี่ยนที่ตัวเราเอง และเปลี่ยนที่ตัวเองแบบง่ายที่สุดก็คือ เปลี่ยนวันละสามเวลาผ่านการกินของเราสามมื้อนั่นแหละ และนี่คือจุดเร่ิมต้นของโครงการเรา”
ที่ผ่านมาเขาร่วมก่อตั้งกลุ่มรณรงค์ที่เรียกว่า Eat Better หรือ #กินดีกว่า ซึ่งดูแลทั้งฝั่งของผู้ผลิตและผู้บริโภคไปพร้อมๆ กัน เป็นแนวคิดที่เริ่มจากการเปลี่ยนตัวเอง หรือเริ่มต้นจากตัวเอง เช่น ทำอาหารเอง ปลูกผักเอง เพราะเราเชื่อว่าทุกคนสามารถดูแลตัวเองได้ บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งถือว่าเป็นทางออกของโลกในทุกวันนี้
เมื่อเราทำทุกอย่างเอง เราจะทำด้วยความใส่ใจ เพราะคนเราย่อมอยากได้ของที่ดีที่สุดให้ตัวเอง เมื่อเราใส่ใจเราจะยิ่งเข้าใจว่ากว่าเราจะได้ของแต่ละอย่าง หรือกว่าจะปลูกผักได้แต่ละต้น มันไม่ง่าย เมื่อเราเข้าใจทั้งกระบวนการ เราจะกลายเป็นผู้บริโภคที่มีความตระหนักในการบริโภค เราจะไม่กินอะไรเหลือทิ้ง เราจะตั้งคำถามเป็น คิดก่อนซื้อ ตระหนักถึงที่มา เห็นคุณค่าของทุกสิ่ง ไม่อุดหนุนสินค้าที่ไม่ดีกับสิ่งแวดล้อม เช่น ต่อให้เป็นของราคาถูก แต่ถ้ากระบวนการผลิตไม่คิดถึงสิ่งแวดล้อม มันก็คือต้นทุนแอบแฝงที่แพงมาก จะเห็นว่าสิ่งนี้เป็นความยั่งยืนที่เกิดจากภายใน ไม่ใช่ภายนอก เพราะเมื่อเราหาคำตอบและพิสูจน์ได้แล้วว่า สิ่งที่เราทำมันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดียังไง มันก็จะเกิดการบอกต่อ และสร้างกระแสให้คนทำตามได้ในที่สุด นั่นคือ สร้าง awareness inspiration action แล้วเราจะบรรลุเป้าหมายในระยะยาว คือการสร้าง Prosumer (Production by Consumer) หรือการผลิตโดยผู้บริโภค ซึ่งจะไม่ใช่แค่เรื่องอาหาร แต่พลังงาน ก็จะเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เพราะผู้บริโภคสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เอง เช่น พลังงานจากโซลาร์เซลล์ เป็นต้น
“ดังนั้นสำหรับผม การเปลี่ยนแปลงจะมีสองระดับเสมอ คือเปลี่ยนตัวเอง แล้วค่อยไปเปลี่ยนสังคม การเปลี่ยนตัวเอง ต้องทำอย่างมีทิศทาง ไม่หวั่นไหวกับสิ่งภายนอก มีสมดุล ไม่กระทบสิ่งแวดล้อมและคนอื่น นั่นคือสิ่งที่ทุกคนทำได้และควรทำเลย แล้วคนอื่นจะทำตามเราเอง อย่าไปบังคับให้คนเชื่อเหมือนเรา เขาจะคิดว่าเราบ้าได้ เราต้องทำด้วยความเชื่อมั่น จำไว้เสมอว่า ห่วงโซ่ของความดีมันต้องค่อยๆ ต่อเนื่องกันไปทีละข้อ”
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.wwf.or.th/our_news/our_blog_th/?uNewsID=352870
https://www.greenery.org/canchangetheworld/ply-pirom-wwf/