ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เม.ย.อยู่ระดับ 84.3 ต่ำสุดในรอบ 8 เดือนเนื่องจากกังวลต่อการแพร่ระบาดโควิดรอบใหม่ กกร.เตรียมหารือ 19 พ.ค.นี้เพื่อหาแนวทางเร่งฉีดวัคซีนหลังสมาชิก ส.อ.ท.แจ้งต้องการวัคซีนแล้วกว่า 4.46 แสนคน และรัฐต้องกู้เพิ่ม 1 ล้านล้านบาทไม่พอเพื่อดูแล ศก.ในช่วงไตรมาส 3-4 ต้องเพิ่มเป็น 2 ล้านล้าน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2564 อยู่ที่ระดับ 84.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 87.3 ในเดือนมีนาคม 2564 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ ส่งผลให้ภาครัฐยกระดับมาตรการควบคุมโควิด-19 ให้เข้มงวดมากขึ้น แม้ว่าภาครัฐจะไม่ได้ประกาศมาตรการล็อกดาวน์หรือเคอร์ฟิวเหมือนกับการระบาดในระลอกแรก แต่วิกฤตโควิด-19 รอบใหม่ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง ทั้งการค้าการลงทุน การเดินทางท่องเที่ยว ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่มาตรการ Work From Home ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งเพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
“เมษายนยังมีวันทำงานน้อยเนื่องจากมีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทำให้ภาคการผลิตส่วนใหญ่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่แล้ว ส่วนดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 91.8 จากระดับ 94.0 ในเดือนมีนาคม 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ที่อาจยืดเยื้อและต้องใช้ระยะเวลานานในการควบคุม ขณะที่การฉีดวัคซีนให้ประชาชนยังมีความล่าช้า” นายสุพันธุ์กล่าว
ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้แก่ กกร.ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย จะหารือวันที่ 19 พ.ค.นี้เพื่อสรุปแนวทางการดำเนินงานของ 4 ได้แก่ ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน, ทีมการสื่อสาร, ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม และทีมเทคโนโลยีและระบบในการที่จะช่วยภาครัฐได้มีการกระจายวัคซีนให้เร็วขึ้น โดยภาคเอกชนมีความสนใจจะจัดหาวัคซีนเพื่อฉีดให้แรงงานเอง ซึ่งจากการสำรวจของ ส.อ.ท.พบว่าเฉพาะสมาชิก ส.อ.ท. ณ วันที่ 7 พ.ค.มีความต้องการแจ้งเข้ามา 446,263 คน คิดเป็นจำนวน 772 บริษัท แต่หากรวมที่ไม่ใช่สมาชิก ส.อ.ท. และรวมของการนิคมอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ประมาณ 1,036,847 คน
“เราสำรวจมาเอกชนพร้อมจ่ายเงินเอง โดยอยากได้เพื่อฉีดภายใน มิ.ย.นี้ แต่หากที่สุดเราไม่สามารถจัดหาวัคซีนนำเข้าเองได้ภายใน มิ.ย.ก็คงจะต้องจบ และรอภาครัฐ เพราะเวลานี้รัฐก็พร้อมจัดหาเพิ่มเป็น 150 ล้านโดสแล้ว ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐออกมาถือว่าดีแต่จะดูแลได้แค่ไม่เกินต้นไตรมาส 3 เห็นว่าการฉีดวัคซีนยังมีข้อจำกัดกว่าจะฉีดครบระหว่างทางอาจมีคลัสเตอร์ใหม่ๆ ตามมา จึงเห็นว่าควรจะต้องกู้เพิ่มเพื่อมาดูแลประชาชนในช่วงไตรมาส 3-4 โดยก่อนหน้านี้เราเคยบอกว่า 1 ล้านล้านบาทไม่พอจะต้อง 2 ล้านล้านบาท และวันนี้ก็เห็นว่าโควิดรอบใหม่จะรุนแรงกว่าทุกๆ ครั้ง” นายสุพันธุ์กล่าว