xs
xsm
sm
md
lg

โควิดรอบใหม่แรงงาน “เสี่ยงตกงานเพิ่มขึ้น-หนี้พุ่ง” คาถาอยู่รอด! อย่าเกี่ยงงาน-มีก๊อก 2 รองรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ในไทยหรือที่บางคนเรียกว่ารอบ 3 ในเดือนเมษายน 2564 ทำให้ภาพเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง จากก่อนหน้านี้หลายคนได้ตั้งความหวังและเริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์เมื่อการควบคุมการระบาดรอบ 2 คลี่คลาย กิจกรรมต่างๆ เริ่มกลับมาขับเคลื่อนอีกรอบ แถมส่งออกก็ตีกลับพลิกฟื้นดีขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่รับอานิสงส์จากการที่ประเทศต่างๆ ได้ระดมฉีดวัคซีน โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา

ขณะนี้สถานการณ์ต่างๆ พลิกกลับตรงข้าม เกิดการสะดุดลงของกิจกรรมต่างๆ จากมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ของรัฐบาลโดยเฉพาะในพื้นที่สีแดง 6 จังหวัดที่ควบคุมเข้มงวดมีการปิดสถานที่เสี่ยง ควบคุมร้านอาหารให้สั่งกลับไปรับประทานที่บ้านอย่างเดียว ปรับเวลาเปิด-ปิดห้าง ร้านให้เร็วขึ้น ฯลฯ เหล่านี้ล้วนทำให้เป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจและแรงงานที่เปราะบางอยู่แล้วให้เปราะบางมากขึ้น

แม้ว่ามติ ครม.เมื่อวันที่ 5 พ.ค.จะออกมาตรการเยียวยาผลกระทบและมาตรการดูแลค่าสาธารณูปโภคออกมาภายใต้มาตรการเดิมๆ ที่เคยใช้ในช่วงที่ผ่านมา โดยมีการอัดเงินเพิ่มให้ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนละครึ่งเฟส 3 ลดค่าน้ำ ค่าไฟ 2 เดือน ฯลฯ แม้ว่าเป็นมาตรการที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจแต่ก็มีเสียงสะท้อนจากหลายฝ่ายว่าหากตัวเลขผู้ที่ติดเชื้อยังคงไม่ลดลงและสถานการณ์ดังกล่าวยืดเยื้อออกไปจนถึงต้นมิถุนายนนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเสียหายระดับกว่า 3 แสนล้านบาทเลยทีเดียว

ภาวะเช่นนี้หนีไม่พ้นที่แรงงานหลายคนอาจเปลี่ยนสถานะกลายเป็นคนตกงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งขณะนี้หากพิจารณาตัวเลขของภาคเอกชนที่น่าจะสะท้อนข้อเท็จจริงมากกว่าของภาครัฐมีการประเมินว่าการว่างงานก่อนโควิดรอบใหม่อาจมีจำนวนผู้ว่างงานและเสมือนผู้ว่างงานรวมกันประมาณ 1.45 ล้านคน มีการคาดการณ์ว่าการจ้างงานจากผลกระทบการระบาดระลอกที่ 3 อาจมีกลุ่มเสี่ยงที่ต้องออกจากงานประมาณ 148,900 คน และมีนักศึกษาจบใหม่ที่จะเข้ามาสมทบประมาณ 524,893 คน ยังไม่รวมแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ เช่น สถานบันเทิง ร้านอาหาร ค้าปลีกและแรงงานสีเทาจำนวนมากที่อยู่นอกระบบ

สภานายจ้างฯ เผยสัญญาณว่างงานยังสูง
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่า ข้อมูลการว่างงานและการว่างงานแฝงของประเทศถึงแม้จะถูกกลบว่าไม่มีปัญหา แต่ข้อมูลเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นว่าแรงงานจำนวนมากยังอยู่ในสภาพไม่มีงานทำขาดรายได้จนรัฐบาลต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และหากถามว่าแรงงานไปอยู่ไหน มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าแรงงานที่ไม่มี งานทำ 74% ย้ายถิ่นกลับภูมิลำเนาเดิมในช่วงที่มีการแพร่ระบาดในปีที่แล้วมีแรงงานกลับต่างจังหวัดประมาณ 2 ล้านคน

“มีไม่บ่อยครั้งนักที่จะพบเห็นคลื่นอพยพแรงงานในเมืองที่เป็นคนรุ่นใหม่มีการศึกษามีความรู้ด้านเทคโนโลยีย้ายคืนถิ่นมากเท่าครั้งนี้ สอดคล้องกับข้อมูลของทีดีอาร์ไอที่ระบุว่าแรงงานที่กลับไปอยู่ต่างจังหวัดส่วนใหญ่ไม่สามารถที่จะทำงานในภาคเกษตร ด้วยนิยามการว่างงานที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจึงทำให้คนเหล่านี้เป็นคนมีงานทำทั้งที่ข้อเท็จจริงเป็นผู้ว่างงานแฝงอยู่ในชนบทจำนวนมากเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องได้รับการแก้ไข และความท้าทายของผู้ใช้แรงงานยังสะท้อนได้จากตัวเลขผู้หางานผ่าน Jobthai.com ล่าสุดมีจำนวนสูงถึง 1.876 ล้านคน สูงสุดเท่าที่เคยมีมา” นายธนิตกล่าวให้เห็นสัญญาณการว่างงาน

แนะแรงงานปรับตัว
นายธนิตกล่าวว่า การปรับตัวทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงานไม่มีสูตรสำเร็จขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในคลัสเตอร์ใด แม้แต่อุตสาหกรรมเดียวกันผลกระทบก็ไม่เท่ากัน ดังนั้น ปัญหาต่างกันการรับมือก็มีความแตกต่างกัน ประเด็นที่จะต้องเผชิญหลังจากนี้ที่สำคัญ คือ 1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของไวรัส และปัจจัยสำคัญที่จะลดผลกระทบได้คือการเข้าถึงวัคซีนอย่างน้อยต้องครอบคลุม 70% ซึ่งตามแผนรัฐบาลจะยาวไปถึงสิ้นปีซึ่งทำให้ลูกจ้างต้องเตรียมรับมือในระหว่างนี้

2. ธุรกิจที่มีความเสี่ยงเกี่ยวข้องกับจำนวนคนที่ถูกเลิกจ้าง เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว, ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม, สถานบันเทิงและบริการต่างๆ รวมถึงนวดแผนโบราณ ค้าปลีกที่อยู่ตามห้างและรายย่อย ภาคอุตสาหกรรมซึ่งส่วนใหญ่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ หากอยู่ในธุรกิจเหล่านี้จะต้องเตรียมรับมือ

3. ธุรกิจที่ยังคงสดใส เช่น อุตสาหกรรมการส่งออก ซึ่งอุตสาหกรรม 30 อันดับแรก หรือ “TOP 30” มีเพียง 5 คลัสเตอร์เท่านั้นที่ยังหดตัวที่เหลือกลับมาเป็นบวก นอกจากนี้ ธุรกิจประเภทเวชภัณฑ์ ยา ถุงมือยาง หน้ากากอนามัย

4. Next Normal Business ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจที่เกี่ยวกับขนส่งเอ็กซ์เพรสหรือธุรกิจประเภทแกร็บ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคจะทำให้ธุรกิจเหล่านี้กลายเป็นธุรกิจแห่งอนาคต

5. ผู้ใช้แรงงานคาถาเพื่อการอยู่รอด เช่น ระยะสั้นนี้อย่าเกี่ยงงาน อย่าเกี่ยงค่าจ้าง ต้องทำตัวให้มีคุณค่าโดยเฉพาะคนที่มีอายุมาก “อย่าแก่แล้วแก่เลย” ต้องทำตัวให้มีค่าคุ้มเงินเดือนที่นายจ้างยังคงที่จะเก็บไว้ สุดท้ายต้องมีก๊อก 2 หรือเรียกว่า “แผนฉุกเฉิน” กรณีมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เช่น ถูกซองขาว จะต้องวางแผนไว้ก่อนว่าชีวิตจะเดินต่ออย่างไร เช่น การเตรียมล่วงหน้า เปลี่ยนทักษะใหม่เพื่อที่จะหางานใหม่ การทำอาชีพอิสระ และที่สำคัญ ต้องออมเงินมากๆ


หอการค้าเผยสถานะแรงงานไทยหนี้บาน
 
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทยปี 2564 สำหรับกลุ่มแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน จากผู้ใช้แรงงาน 1,256 ราย ระหว่างวันที่ 18-22 เมษายน 2564 พบว่า สัดส่วน 98.1% ของแรงงานไทยระบุมีภาระหนี้สิน ถือว่าสูงสุดจากที่เก็บข้อมูลมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้จากหาเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จ่ายหนี้เดิม จ่ายหนี้บัตรเครดิต จ่ายค่าการศึกษาและค่าอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา และราคาสินค้าเพิ่มขึ้น

โดย 45.5% ระบุมีรายได้เท่ารายจ่าย และ 82% ระบุอัตรารายได้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาหลายปีแล้ว ทำให้ 85.1% เจอภาวะผิดนัดชำระหนี้ และ 60% ระบุภาระหนี้กระทบต่อการใช้จ่ายต้องลดลง และไม่สามารถออมเงินได้ อีกทั้ง 71.5% ระบุว่าสถานการณ์ตอนนี้มีปัญหารายได้ไม่พอใช้จ่ายแล้ว ทำให้แรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท/เดือน มีหนี้ครัวเรือน 206,000 บาท เพิ่มขึ้น 29.56% แยกเป็นหนี้ในระบบ 71% หนี้นอกระบบ 29% จากปี 2562 ที่มียอดหนี้ 159,000 บาท ถือเป็นภาระหนี้สูงสุดจากเก็บสำรวจมา 12 ปี

จากการสำรวจสะท้อนว่ารายได้แรงงานที่มีรายได้ขั้นต่ำอยู่ในภาวะตึงตัวสูง จากแบกรับภาระหนี้เพิ่มขึ้น ปัญหาค่าครองชีพสูง ต้องก่อหนี้เพื่อมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เงินออมในกลุ่มนี้หดตัวกว่า 30% ต้องประหยัดใช้จ่ายมากสุด ไม่มีการลงทุนใหม่ๆ จึงจะกระทบตรงต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต

การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่เปรียบเสมือนเอามีดมากรีดซ้ำรอยแผลเดิมที่กำลังจะแห้งให้มีเลือดไหลออกมา แต่ครั้งนี้เลือดที่ไหลจะหยุดลงเมื่อไหร่ยากที่จะคาดเดาเช่นกัน เพราะขณะนี้ยังคงมีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และการตั้งรับจากสถานพยาบาลต่างๆ เริ่มประสบปัญหาซึ่งต่างจากรอบ 1-2 อย่างสิ้นเชิง ดังนั้นความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยโดยรวมจึงยังคงมีอยู่


จึงไม่แปลกที่เสียงเรียกร้องจากประชาชนและภาคเอกชนจะดังขึ้นถึงความต้องการ “วัคซีน” เพราะส่วนใหญ่ต่างคาดหวังว่าจะเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จแม้จะไม่ 100% แต่ก็จะลดความรุนแรงของการแพร่ระบาดและลดการติดเชื้อและความสูญเสียลงได้ และจะทำให้กิจกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง โดยล่าสุดรัฐบาลยืนยันว่าได้เร่งหาวัคซีนเข้ามาเพิ่มให้ได้เป็น 150-200 ล้านโดสเพื่อสำรองใช้ในอนาคตจากเดิมที่กำหนดไว้ 100 ล้านโดสเพื่อฉีดให้แก่ประชากร 50 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ดังนั้นระหว่างนี้ก็คงต้องรอผลในทางปฏิบัติกันต่อไป

แต่ที่ชัดเจน บทเรียนที่ได้รับจากโควิด-19 นี้ทำให้เห็นว่าทุกๆ ฝ่ายไม่ควรจะตั้งอยู่บนความประมาท ทั้งผู้บริหารภาครัฐ ราชการ ประชาชนผู้ที่เป็นทั้งแรงงานในภาคต่างๆ และเป็นเจ้าของธุรกิจ เพราะความประมาทมักจะนำมาซึ่งความเสียหายที่ไม่อาจประเมินค่าได้ โดยเฉพาะภาคแรงงานที่เปรียบเหมือนกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ไม่ควรจะได้รับบทเรียนจากความประมาทของการบริหารจากฝ่ายรัฐ

อย่างไรก็ตาม เมื่อการระบาดโควิด-19 เกิดขึ้นอีกครั้งแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้และยังไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ ทำให้ภาคแรงงานต้องเรียนรู้ในการปรับตัวเพื่อการอยู่รอดของการดำรงชีวิตในปัจจุบันและอนาคตให้มากขึ้น คนที่มีเงินออมจะสามารถอยู่รอดได้ดี แต่กระนั้นถ้าคนมีเงินออมไม่มากกลับมารอบนี้ก็อาจจะทำให้เหลือเงินไว้เผื่อใช้ในอนาคตน้อยลงไป การวางแผนการทำงานจากนี้จึงต้องระมัดระวังการใช้จ่ายที่ต้องไม่ฟุ่มเฟือย ต้องฝึกฝนทักษะเพื่อหางานที่ใช่สำหรับอนาคตเพราะตำแหน่งงานก็จะเปลี่ยนไปในยุคิวิถีใหม่ (New Normal) เช่นกัน และหากมีอาชีพเสริมที่จะทำได้ก็ต้องไม่เกี่ยงที่จะมองหา ซึ่งทั้งหมดคือหลักเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง

ท้ายสุดนี้ เมื่อโควิด-19 ยังคงระบาด เหนือสิ่งอื่นใดคือการดูแลไม่ให้ตัวเองติดเชื้อตามคำแนะนำของแพทย์และสาธารณสุข เพื่อรอเวลาเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง จะได้มีแรงกายและแรงใจในการทำงานกันต่อไปเพื่อขับเคลื่อนชีวิตตนเอง ครอบครัว และเศรษฐกิจไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น