นายจ้างปรับกลยุทธ์รัดเข็มขัดแน่น ลดรายจ่ายรอบด้านประคองธุรกิจฝ่าโควิด-19 ระลอกใหม่หลังภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนจากที่คาดจะทยอยฟื้นตัวอาจชะลอตัว ส่งสัญญาณภาคแรงงานยังเปราะบาง โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว บริการ ด้านค้าปลีกค้าส่งทรงตัว ส่วนภาคส่งออกเริ่มสดใส โชว์ข้อมูลคนหางานผ่าน Jobthai.com แตะ 1.87 ล้านคน แนะรัฐหามาตรการดูแลเด็กจบใหม่ 5.2 แสนคนส่อเคว้ง
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้นายจ้างโดยรวมต้องปรับกลยุทธ์ในการดำเนินงานให้สอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นและแนวโน้มรุนแรงกว่ารอบที่ผ่านๆ มา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัวด้วยการมุ่งลดต้นทุนค่าใช้จ่ายรอบด้านและสำรองเงินสดไว้ให้มากสุดเพื่อประคองธุรกิจ ดังนั้น การว่างงานภาพรวมแม้จะมีโอกาสฟื้นตัวจากภาคการส่งออกที่มีสัญญาณบวกประกอบกับรัฐไม่ได้ประกาศล็อกดาวน์ทั้งประเทศแต่ตลาดแรงงานยังมีความเสี่ยงและอ่อนไหวจากตัวเลขการว่างงานแฝงที่สะท้อนผ่านข้อมูลจำนวนคนที่กำลังหางาน เฉพาะในเว็บ Jobthai.com ล่าสุดมีผู้ฝากประวัติแสดงความจำนงต้องการงานกว่า 1.87 ล้านคนซึ่งส่วนใหญ่จบปริญญาตรี
“หากดูตัวเลขผู้ประกันสังคมมาตรา 33 เป็นแรงงานในระบบที่มีตัวตนและมีนายจ้าง เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 มีจำนวน 11.692 ล้านคนซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ใช้เป็นฐานเปรียบเทียบกับข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ผู้ประกันตนมีจำนวน 11.10 ล้านคน หายไปถึง 5.92 แสนคน ข้อมูลนี้แสดงว่าการจ้างงานยังไม่กลับมาเป็นปกติ และหากมองเฉพาะเด็กจบใหม่ของปีการศึกษา 2563 ที่เริ่มทยอยออกมาในช่วงมี.ค.-เม.ย.นี้อีก 5.24 แสนคน สิ่งที่น่ากังวลเมื่อเจอโควิด-19 รอบใหม่เด็กเหล่านี้จะเผชิญต่อภาวะว่างงานมากขึ้น จึงเห็นว่ารัฐควรจะต้องมีมาตรการดูแลกลุ่มนี้” นายธนิตกล่าว
ทั้งนี้ ผลกระทบการว่างงานของไทยจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐเป็นสำคัญ โดยภาคเอกชนซึ่งเป็นนายจ้างได้ปรับกลยุทธ์ไว้รองรับยาวตั้งแต่ 6 เดือนไปจนถึงสิ้นปีนี้จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังแต่การมาของโควิด-19 รอบใหม่การฟื้นตัวจะช้าลง อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจแต่ละส่วนจะมีความต่างกันออกไป โดยพบว่าธุรกิจส่งออก ลอจิสติกส์ มีแนวโน้มฟื้นตัวที่ชัดเจนแล้ว ดังนั้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องภาพรวมจะมีการประคองการจ้างงานไปได้และมีโอกาสสัดส่วนของการจ้างงานได้เพิ่มขึ้น
ขณะที่ธุรกิจภาคท่องเที่ยวและบริการจะได้รับผลกระทบมากสุด เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติโอกาสจะกลับเข้ามาไทยในปีนี้มีแนวโน้มค่อนข้างยากเพราะหลายแห่งเริ่มกลับมาระบาดเพิ่มและแม้จะมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่ก็ยังต้องรอดูผลลัพธ์ ประกอบกับไทยยังไม่มีการฉีดวัคซีนในจำนวนมากพอที่จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ส่วนการท่องเที่ยวในประเทศก็อาจจะลำบากยิ่งขึ้นเมื่อมีการระบาดรอบใหม่ที่รุนแรงส่งผลให้คนกลัวการเดินทาง
ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก ค้าส่ง ภาพรวมจะยังคงทรงตัว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ห่วงคือธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยว บริการ อาจมีโอกาสสูงขึ้นที่จะไม่สามารถประคองให้อยู่รอดได้ จึงต้องติดตามมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท และมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง (มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 100,000 ล้านบาทว่าจะเข้ามาเยียวยาได้มากน้อยเพียงใด
“ดูจากเงื่อนไขใหม่ในส่วนของซอฟต์โลน 2.5 แสนล้านบาทน่าจะมีส่วนช่วยเอสเอ็มอีให้เข้าถึงได้ดีพอสมควร อย่างไรก็ตาม เห็นว่าสิ่งสำคัญคือต้องเร่งควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเร็ว จึงเห็นว่าควรมีบทลงโทษให้มากขึ้นสำหรับเจ้าของกิจการในทุกภาคส่วนที่ไม่มีการป้องกันโควิด-19 ตามที่รัฐบาลกำหนด” นายธนิตกล่าว