บอร์ด รฟท.เคาะจ้าง รฟฟท.เดินรถสีแดง 3 ปี หรือจนกว่าจะได้เอกชนรับสัมปทาน PPP ตามนโยบาย “ศักดิ์สยาม” ตั้งกรอบค่าใช้จ่ายปีละ 1,000 ล้านบาท เร่งเสนอ คนร.ทบทวนมติเดิมที่ให้อัปเกรด ตั้งบริษัทลูก พร้อมปรับแผนพัฒนาพื้นที่เพิ่มรายได้ชดเชยค่าโดยสาร
แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ที่มี นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธานวันที่ 22 เม.ย. 2564 มีมติเห็นชอบ ให้จ้างบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) เป็นผู้เดินรถโครงการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ในรูปแบบปีต่อปี เป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี หรือจนกว่าจะคัดเลือกเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) ได้
หลังจากนี้ รฟท.จะรวบรวมข้อมูลเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณา และส่งเรื่องไปยังสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ทบทวนมติเดิมที่ให้ รฟท.จัดตั้งบริษัทลูกเดินรถไฟสายสีแดง ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
หากได้รับความเห็นชอบ รฟท.จะดำเนินการจ้าง รฟฟท.เดินรถไฟสายสีแดง ต่อเนื่องจากสัญญาปัจจุบันที่จ้าง รฟฟท.เดินรถไฟสายสีแดงจะครบกำหนดเดือน ก.ย. 2564 ซึ่งเป็นช่วงการทดสอบเดินรถ โดยได้กำหนดอัตราพนักงานในการให้บริการเดินรถไฟสายสีแดงไว้จำนวน 806 อัตรา โดย รฟฟท.ได้มีการรับสมัครพนักงานชั่วคราวจำนวน 256 คน อีกส่วนจะเป็นพนักงานที่โอนมาจากรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์
ทั้งนี้ ตั้งกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายไว้ประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรราว 500 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าซ่อมบำรุง ขณะที่ในปีที่ 2 นับจากเปิดให้บริการ รฟท.จะต้องตั้งงบสำหรับจัดซื้ออะไหล่ล่วงหน้าประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อรองรับการซ่อมบำรุงในปีที่ 3 ซึ่ง รฟท.จะต้องดำเนินการเอง เนื่องจากสัญญา 3 งานระบบสายสีแดงนั้นมีระยะรับประกัน 2 ปี และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเหมือนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์
นอกจากนี้ รฟท.อยู่ระหว่างเร่งทบทวนการศึกษาแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้เพิ่ม และสนับสนุนการให้บริการเดินรถ ซึ่งในปีแรกจะมีการจัดเก็บค่าโดยสารที่ 12-42 บาท ตามนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งประเมินว่ารายได้จะต่ำกว่ารายจ่าย ตัวเลขผลประกอบการยังติดลบอยู่เล็กน้อย จึงต้องปรับปรุงแผนเชิงพาณิชย์ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
สำหรับมติ คนร.เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2562 ได้เห็นชอบการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟสายสีแดง โดยการเพิ่มพันธกิจให้แก่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (รฟฟท.) บริหารเดินรถแบบ Net Cost รับความเสี่ยงเอง โดยเงินทุนภายใน 5 ปี วงเงิน 3,300 ล้านบาท ปีแรก (2564) ประเมินปีแรกจะมีผู้โดยสารประมาณ 5 หมื่นคนต่อวัน ขณะที่จุดคุ้มทุนจะอยู่ที่ 8 หมื่นคนต่อวัน โดยให้ปรับปรุงแผนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้และทำกำไร