xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเปิดเผยรายงาน BBFAW ฉบับใหม่ ชี้โอกาสซีพีเอฟยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มสู่เทียร์สูงสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากรายงานการจัดอันดับบริษัทที่มีการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์ม หรือ The Business Benchmark on Farm Animal Welfare : BBFAW ในปี พ.ศ. 2563 ได้เผยให้เห็นว่า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ได้เลื่อนขั้นจากเทียร์ 4 ในปี พ.ศ. 2562 ขึ้นมาอยู่เทียร์ 3 ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนด้านสวัสดิภาพสัตว์ โดยทางองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกยังมองเห็นถึงโอกาสที่จะพัฒนาไปอีกขั้นเพื่อขึ้นแท่นเป็นผู้นำด้านการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ในระดับสากล


รายงาน BBFAW เป็นการจัดอันดับบริษัทชั้นนำระดับโลกจำนวน 150 บริษัททั่วโลก ด้านนโยบายการดำเนินงาน ด้านสวัสดิภาพสัตว์ โดยแบ่งออกเป็น 6 เทียร์ ระดับสูงสุดคือ เทียร์ 1 เป็นผู้นำการจัดการด้านสวัสดิภาพสัตว์ (Leadership) ไปจนถึงอันดับสุดท้าย เทียร์ 6 ไม่ปรากฏแผนด้านสวัสดิภาพสัตว์ในการดำเนินธุรกิจ (No evidence it’s on the business agenda) ซึ่งจำแนกเกณฑ์การประเมินดังนี้ 1. การบริหารจัดการและนโยบาย (Management Commitment and Policy) 2. ด้านธรรมาภิบาลและการจัดการ (Governance and Management) 3. นวัตกรรมและความเป็นผู้นำ (Innovation and Leadership) 4. การรายงานผลการดำเนินงานและผลกระทบ (Performance Reporting and Impact)

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ซีพีเอฟเป็นบริษัทหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่ถูกจัดอันดับและได้มีการเลื่อนขั้นจากเทียร์ 5 ขึ้นมาเทียร์ 3 ในปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ในการประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง


นางสาวเหมือนดาว คงวรรณรัตน์ ผู้จัดการโครงการสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า “ผลจากรายงานล่าสุดนี้ได้เผยให้เห็นถึงแนวโน้มการดำเนินธุรกิจพร้อมการปรับปรุงสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีขึ้น สะท้อนถึงสถานะผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ระดับโลกได้เป็นอย่างดี และเรายังมองเห็นถึงโอกาสของการพัฒนาไปอีกขั้น เช่น การกำหนดนโยบายไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคแบบรวมกลุ่มในสัตว์ฟาร์มในทุกสายการผลิต รวมถึงปรับปรุงแนวปฏิบัติภายในฟาร์มเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตสัตว์อย่างแท้จริง เช่น การไม่ตัดตอนอวัยวะลูกหมู ไม่ขลิบหู และเลือกใช้สายพันธุ์ไก่เนื้อที่เติบโตช้าลง ซึ่งทางองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ร่วมกับภาคีเครือข่าย และนักวิชาการได้ร่วมกันพัฒนา Farm Animal Responsible Minimum Standard (FARMS initiative) เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยขับเคลื่อนมาตรฐานขั้นพื้นฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์ และมีความยินดีที่จะสนับสนุนซีพีเอฟ และบริษัทผู้ผลิตอาหารอื่นๆ ในประเทศไทยให้มีมาตรฐานทัดเทียมกับกระแสความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก เพื่อนำไปสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืนและเป็นธรรมมากขึ้น”


ซีพีเอฟถือเป็นผู้นำที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้ค้าปลีก และเป็นผู้จำหน่ายอาหารรายใหญ่ให้แก่ร้านค้าและร้านอาหารอื่นๆ ในประเทศไทยและต่างประเทศ จึงยิ่งต้องแสดงความเป็นผู้นำในการส่งมอบอาหารที่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภคและยังสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนด้วย ทางองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกมุ่งหวังที่จะเห็นซีพีเอฟก้าวขึ้นสู่เทียร์ 1 ในการจัดอันดับครั้งต่อไป (รายงาน BBFAW เพิ่มเติม https://www.bbfaw.com/media/1942/bbfaw-report-2020.pdf )


กำลังโหลดความคิดเห็น