“วีริศ” ผู้ว่าการการนิคมฯ เปิดนโยบายพัฒนา กนอ. ชู 6 แผนเตรียมพร้อมดึงดูดการลงทุนในพื้นที่นิคมหลังโควิดฯ เร่งสานต่องานตามนโยบายรัฐบาล “ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3-นิคมฯ สมาร์ทปาร์ก” พร้อมเดินหน้าพัฒนานิคมฯ เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ)
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงนโยบายการดำเนินงานภายหลังการเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ.ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กนอ.ก็จะสานต่องานเดิมที่วางไว้ แต่จะมีการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน และสร้างความยั่งยืนให้แก่ กนอ. โดยการดำเนินงานจะแบ่งเป็น 6 กลุ่มใหญ่ที่สำคัญ ดังนี้ 1. เรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ คือ เร่งหาแนวทางการดึงดูดการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมให้เพิ่มมากขึ้น โดยจะใช้ทั้งมาตรการการตลาดและมาตรการเชิงรุกออกไปหารือกับนักลงทุนโดยตรง รวมทั้งเร่งสื่อสารทางการตลาดประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลศักยภาพของนิคมอุตสาหกรรมแก่นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศให้มากขึ้น
2. เร่งสานต่อนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล ได้แก่ การเร่งดำเนินโครงการสมาร์ทปาร์ก และเร่งรัดโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 ซึ่งเป็นท่าเรืออุตสาหกรรมขนส่งก๊าซ และพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีชั้นสูงที่สำคัญ โดยทั้ง 2 โครงการนี้ถือได้ว่าเป็นโครงการหลักที่สำคัญในการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในส่วนของโครงการนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กนอ. ได้แก่ นิคมฯ สระแก้ว นิคมฯ สงขลา กนอ.ต้องเร่งดำเนินการดึงดูดการลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย และจัดทำแผนการตลาดที่เหมาะสม
3. แผนลดความเสี่ยงในทุกด้านที่จะกระทบต่อการดำเนินกิจการในนิคมฯ ของ กนอ. โดยเฉพาะการลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำและพลังงาน ควบคู่กับการให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมชั้นสูงที่ต้องการกระแสไฟฟ้าที่มีคุณภาพมี เช่น การผลิตไฟฟ้าจาก Solar Floating
4. สิ่งแวดล้อม มีแผนหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กรมสรรพากร และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น เพื่อจัดทำสิทธิประโยชน์ให้แก่โรงงานที่ได้มาตรฐานในระดับสูง ส่วนโรงงานที่ดำเนินการไม่ถูกต้องและปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมจะต้องมีมาตรการกำกับดูแลที่ชัดเจน 5. สำหรับสร้างความก้าวหน้าและเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่ กนอ. โดยขณะนี้มีแผนที่จะหาช่องทางในธุรกิจใหม่ๆ (New Business) เช่น การตั้งบริษัทลูก หรือร่วมทุนในธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ โดยสามารถขยายไปสู่การผลักดันให้บริษัทลูกเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้เกิดการระดมทุนและพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ให้เติบโตอย่างรวดเร็ว สร้างรายได้ระยะยาวให้แก่ กนอ. และ 6. พัฒนาบุคลากรโดยการเสริมศักยภาพด้านต่างๆ ให้มากขึ้นรองรับการเติบโตอย่างมีคุณภาพ