xs
xsm
sm
md
lg

โฆษณา Q1 ปี 64 สื่อออนไลน์ยังพุ่ง สื่อหลักกอดคอร่วงระนาวยกแผง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - นีลเส็นรายงานงบโฆษณามีนาคม2564 เฉียดหมื่นล้านบาท อยู่ที่ 9,880 ล้านบาท ใกล้เคียงของเดิม ขณะที่งวดไตรมาสแรกปี 64 งบรวมอยู่ที่ 26,701 ล้านบาท ยังตกลง 4% เผยสื่ออินเทอร์เน็ตพุ่งสื่อเดียวถึง 20% นอกนั้นร่วงระนาว

บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด รายงานมูลค่างบโฆษณาเดือนมีนาคม 2564 ว่ามีมูลค่าประมาณ 9,880 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากมีนาคม ปี 2563 ที่มีมูลค่า 9,860 ล้านบาท ขณะที่งบโฆษณารวมช่วง 3 เดือนแรกปี 2564 มีมูลค่ารวมประมาณ 26,701 ล้านบาท ตกลง 4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปี 2563 ที่มีมูลค่า 27,825 ล้านบาท
 
หากแยกเป็นรายสื่อของแค่เดือนมีนาคม 2564 พบว่ามีเพียงสองสื่อที่เติบโตคือ สื่ออินเทอร์เน็ต ที่มีมูลค่า 1,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากเดิมที่มี 1,583 ล้านบาท กับสื่อโรงหนังที่มีมูลค่า 484 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% จากเดิมที่มี 361ล้านบาท


นอกนั้นตกลงหมดทุกสื่อ คือ สื่อทีวีมีมูลค่า 5,963 ล้านบาท ตกลง 3% จากเดิมที่มี 6,137 ล้านบาท, สื่อกลางแจ้ง มีมูลค่า 902 ล้านบาท ตกลง 14% 1,052 ล้านบาท, สื่อสิ่งพิมพ์ มีมูลค่า 277 ล้านบาท ตกลง 12% จากเดิมที่มี 316 ล้านบาท, สื่อวิทยุ มีมูลค่า 294 ล้านบาท ตกลง 11% จากเดิมที่มี 330 ล้านบาท, สื่ออินสโตร์ มีมูลค่า 60 ล้านบาท ตกลง 26% จากเดิมที่มี 81 ล้านบาท

สำหรับงบรวมช่วง 3 เดือนแรกปี 2564 แยกรายสื่อพบว่ามีสื่อเดียวคืออินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นถึง 20% เป็น 5,700 ล้านบาท จากเดิมที่มี 5,749 ล้านบาท นอกนั้นตกลงทั้งหมด คือ

สื่อทีวีมีมูลค่า 15,701 ล้านบาท ตกลง 5% จากเดิมที่มี 16,535 ล้านบาท, สื่อกลางแจ้งมีมูลค่า 2,473 ล้านบาท ตกลง 18% จากเดิมที่มี 3,033 ล้านบาท, สื่อโรงหนัง มีมูลค่า 1,154 ล้านบาท ตกลง 19% จากเดิมที่มี 2,142 ล้านบาท, สื่อสิ่งพิมพ์ มีมูลค่า 779 ล้านบาท ตกลง17% จากเดิมที่มี 939 ล้านบาท, สื่อวิทยุ มีมูลค่า 735 ล้านบาท ตกลง 22% จากเดิมที่มี 947 ล้านบาท และสื่ออินสโตร์ ที่มีมูลค่า 159 ล้านบาท ตกลง 21% จากเดิมที่มี 200 ล้านบาท

ทั้งนี้ สื่อทีวียังคงเป็นสื่อที่มีสัดส่วนของการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดอยู่ที่ 59% โดยภาพรวมของทุกสื่อหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว


เมื่อพิจารณาจากการใช้งบโฆษณาของกลุ่มอุตสาหกรรมแต่ละอย่างในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมปี 2564 พบว่ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มใช้งบโฆษณารวมมูลค่า 4,791 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18%, กลุ่ม Media & Marketing ซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจการขายตรงมูลค่า 3,056 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8%, กลุ่มของใช้ในครัวเรือน มีมูลค่า 1,014 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่า 797 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27%

ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลและเครื่องสำอางมีมูลค่า 3,696 ล้านบาท ตกลง 4%, กลุ่มยานยนต์ มูลค่า 1,853 ล้านบาท ลดลง 12%, กลุ่มยา ใช้งบรวม 1,456 ล้านบาท ตกลง 11%, กลุ่มการเงิน ใช้งบรวม 972 ล้านบาท ตกลง 32% แต่ที่ตกลงอย่างมากและต่อเนื่องจากปีที่แล้วคือ กลุ่มการท่องเที่ยว มูลค่า 289 ล้านบาท ตกลง 72% และกลุ่มบันเทิง มูลค่า 50 ล้านบาท ตกลง 66% และกลุ่มเกษตร ใช้งบ 82 ล้านบาท ตกลง 50%

ส่วนบริษัทที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดช่วง 3 เดือนแรกหรือไตรมาสแรกของปี 2564 โดย 3 ลำดับแรก คือ


1. บริษัท UNILEVER (THAI) HOLDINGS CO.,LTD. มูลค่า 1,183 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว +15% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาคือ บรีส เอกเซล ชนิดน้ำ ทางสื่อทีวีมูลค่า 44 ล้านบาท รองลงมาคือ โดฟ ใหม่ แอนตี้ แฮร์ฟอล นอริชเม้นท์ ทางสื่อทีวีมูลค่า 31 ล้านบาท


2. บริษัท NESTLE(THAI) CO.,LTD. มูลค่า 888 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว +110% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คือ เนสกาแฟ อเมริกาโน่ ทางสื่อทีวีมูลค่า 25 ล้านบาท รองลงมาคือ S26 ของขวัญวันเกิด ทางสื่อทีวีมูลค่า 21 ล้านบาท


3. บริษัท PROCTER & GAMBLE (THAILAND) มูลค่า 613 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว +25% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คือ ดาวน์นี่ ใหม่หอมติดทนนาน ทางสื่อทีวีมูลค่า 25 ล้านบาท รองลงมาคือ รีจอยส์ ผมนุ่มสลวยยาวนาน ทางสื่อทีวีมูลค่า 21 ล้านบาท


ส่วนอันดับที่ 4 คือ บริษัท แมส มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ใช้งบ 454 ล้านบาท นอกนั้นเรียงตามลำดับคือ บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด ใช้งบ 448 ล้านบาท, บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ใช้งบ 379 ล้านบาท, บริษัท โมโน ช้อปปิ้ง จำกัด ใช้งบ 385 ล้านบาท, บริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด ใช้งบ 336 ล้านบาท, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ใช้งบ 291 ล้านบาท และ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ใช้งบ 274 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น