กระทรวงพลังงานมอบ “สนพ.” เกาะติดราคา LPG ตลาดโลกใกล้ชิด หวังราคาดิ่งหนักช่วงยุโรป สหรัฐอเมริกาเข้าสู่ฤดูร้อนที่ความต้องการใช้ลดต่ำก้าวสู่การ “ลอยตัว” ราคาในประเทศโดยไม่กระทบให้เป็นราคาขาขึ้นหลังสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาที่กำหนดไว้ 30 มิ.ย.นี้ ด้านสมาคมผู้ค้าแอลพีจีหวังรัฐลอยตัวคำนึงถึงภาวะ ศก.ประเทศไม่ซ้ำเติมประชาชน
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ติดตามสถานการณ์ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ตลาดโลกใกล้ชิดเพื่อประกอบการพิจารณาประกาศนโยบายลอยตัวราคาแอลพีจีหลังสิ้นสุดมาตรการขยายเวลาการตรึงราคา LPG ออกไป 3 เดือน (1 เมษายน-30 มิถุนายน 2564) ตามที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เห็นชอบไว้เมื่อ 26 มี.ค. 64 เนื่องจากคาดการณ์ว่าราคาแอลพีจีตลาดโลกในระยะเวลาดังกล่าวจะเป็นช่วงขาลงหากลอยตัวจะไม่กระทบต่อภาระประชาชนแต่อย่างใด
“กบน.ได้มอบหมายให้ สนพ.ติดตามสถานการณ์ราคา LPG อย่างใกล้ชิด และนำเสนอแนวทางการทบทวนราคา LPG ให้ กบง.พิจารณาต่อไปเนื่องจากยอมรับว่าการตรึงราคา LPG ที่ผ่านมาส่งผลให้มีการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบัญชีแอลพีจีติดลบแล้วถึง11,514 ล้านบาท (ณ วันที่ 4 เม.ย.) และคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นช่วงนี้เนื่องจาก LPG สวิงตัวตามทิศทางราคาน้ำมันที่สูงขึ้น แต่คาดว่าเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนของทางยุโรปและสหรัฐฯ ในช่วงกลางปีนี้หรือช่วง ก.ค.-ก.ย. ราคา LPG ตลาดโลกจะเป็นขาลงเพราะการใช้ลดต่ำก็จะทำให้สามารถลอยตัวราคาได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ที่นโยบายรัฐบาลขณะนั้นด้วยเพราะต้องดูปัจจัยเศรษฐกิจประกอบการตัดสินใจเช่นกัน” แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับ กบง. เมื่อ 26 มี.ค.เห็นชอบให้ขยายเวลาตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ไว้ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัมต่อไปอีก 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย. 2564) หลังจากมาตรการดังกล่าวได้สิ้นสุดอายุลงในวันที่ 30 มี.ค. 2564 โดยคาดว่าการตรึงราคาครั้งนี้จะใช้เงินอุดหนุนอีกเดือนละ 700 ล้านบาท หรือรวมประมาณ 2,100 ล้านบาทในช่วง 3 เดือนที่มีการชดเชยราคา ซึ่งวงเงินดังกล่าวยังคงอยู่ในกรอบที่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) อนุมัติไว้ให้ดูแลราคาไม่เกิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นกรอบวงเงินที่ได้มีการขยายเพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ไม่เกิน 10,000 ล้านบาท
“กรอบวงเงินที่วางไว้ยังคาดหวังว่าการตรึงราคาต่อ 3 เดือนน่าจะเพียงพอและจากนั้นราคาจะเป็นขาลงซึ่งราคาแอลพีจีที่ตรึงไว้ตามหลักการการนำเงินจากผู้ใช้น้ำมันมาดูแลถือว่าไม่เป็นธรรมเป็นการอุดหนุนข้ามประเภท” แหล่งข่าวกล่าว
นายสุรศักดิ์ อยู่คงพัน นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) กล่าวว่า คงขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลจะพิจารณาว่าจะลอยตัวราคาแอลพีจีหรือไม่ แต่สิ่งสำคัญคือต้องไม่เป็นภาระประชาชนเพิ่มขึ้นเนื่องจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เองก็ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนอยู่แล้วจึงต้องคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจประกอบด้วย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากโควิด-19 ทำให้ขณะนี้ยอดขายแอลพีจีในภาคโรงงานและอุตสาหกรรมลดลงไปพอสมควร แต่ขณะนี้เริ่มมีทิศทางดีขึ้นจากการเริ่มทยอยฟื้นของภาคธุรกิจ
“ภาพรวมการใช้แอลพีจีช่วงนี้เริ่มดีขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนเพราะภาคการผลิตเริ่มฟื้นตัวแต่การใช้ในภาคครัวเรือนยังคงลดลง 1-2% ขณะที่แอลพีจีภาคขนส่งลดลงอย่างมากกว่า 30% เนื่องจากรถยนต์ที่ใช้แอลพีจีใหม่ๆ แทบไม่มี ขณะที่รถเก่าที่เคยติดตั้งแอลพีจีก็หันไปใช้น้ำมันแทนเพราะช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันถูก ทำให้สถานีบริการหรือปั๊มแอลพีจีเริ่มลดลงต่อเนื่องเพราะลูกค้าลดลง” นายสุรศักดิ์กล่าว