xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.แจงควันดำมาบตาพุดเหตุสุดวิสัยจากไฟดับ สั่งโรงงานหามาตรการป้องซ้ำรอย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ชี้แจงกรณีโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดปล่อยควันสีดำจำนวนมากเกิดจากกระแสไฟฟ้าดับ ทำให้ต้องหยุดการผลิตฉุกเฉินและระบายก๊าซออกไปยังปล่องหอเผาส่งผลให้เกิดควันมากกว่าปกติ ล่าสุดได้แก้ไขและเริ่มกระบวนการผลิตแล้ว พร้อมสั่งการให้โรงงานเร่งหามาตรการสำรองป้องกันมิให้เกิดเหตุซ้ำ ขณะที่ผลการตรวจสอบคุณภาพอากาศบริเวณดังกล่าวเบื้องต้นอยู่ในเกณฑ์ปกติ!

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
เปิดเผยว่า ตามที่เกิดเหตุหน่วยผลิตไฟฟ้าของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สาขา 2 หยุดกระบวนการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำฉุกเฉิน (Emergency Shutdown) ในเวลา 11.40 น.เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2564 เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่และมีฟ้าผ่า ส่งผลให้โรงงานที่รับกระแสไฟฟ้าและไอน้ำจาก บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สาขา 2 ซึ่งประกอบด้วย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สาขา 2, บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สาขา 3, บริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สาขา 12 และบริษัท เอ็ช เอ็ม ซี โปลีเมอส์ จำกัด ต้องหยุดกระบวนการผลิตฉุกเฉิน และจำเป็นต้องระบายก๊าซออกไปเผาไหม้ที่ปล่องหอเผา ทำให้เกิดเปลวไฟและควันดำที่ปล่องหอเผา (flare) มากกว่าปกตินั้น

ล่าสุดบริษัทฯ ได้แจ้งมายังศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (EMCC) ของ กนอ.ว่าบริษัทฯ สามารถแก้ไขและเริ่มกระบวนการในหน่วยผลิตไฟฟ้า และไอน้ำแล้ว โดยได้จ่ายกระแสไฟฟ้าและไอน้ำให้โรงงานที่ได้รับผลกระทบแล้ว โดยเมื่อวานนี้ (15 เม.ย. 64) กนอ.ได้ร่วมกับศูนย์ควบคุมมลพิษ จังหวัดระยอง เทศบาลเมืองมาบตาพุด ได้ออกตรวจสอบเฝ้าระวังคุณภาพอากาศบริเวณพื้นที่ชุมชนทั้งหมด 5 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 บริเวณเมืองใหม่มาบตาพุด จุดที่ 2 บริเวณชุมชนมาบยา จุดที่ 3 บริเวณวัดห้วยโป่ง จุดที่ 4 บริเวณชุมชนมาบชลูด และจุดที่ 5 บริเวณบริษัท อิวอนิก ยูไนเต็ด ซิลิกา (สยาม) จำกัด โดยพบว่าคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ปกติไม่เกินค่ามาตรฐานแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันมีรายงานเพิ่มเติมผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า หลังเกิดกระแสไฟฟ้าดับ บริษัทฯ ได้รับกระแสไฟฟ้าจากภายนอกเข้ามาเสริมในระบบเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของหน่วยผลิตอื่นๆ ได้ แต่ภายหลังทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ตรวจสอบพบว่ามีความผิดปกติของระบบสายส่งไฟฟ้าที่โดนฟ้าผ่า ระบบป้องกันไฟฟ้าของ กฟภ.จึงทำงานอัตโนมัติตัดวงจรการส่งจ่ายไฟฟ้าที่โรงงานรับเข้าเสริมในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลให้กระแสไฟฟ้าขาดหายไปจากระบบประมาณ 40 เมกะวัตต์ ทำให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่เหลืออยู่ต้องทำงานหนักเพื่อชดเชยกระแสไฟฟ้าที่ขาดหายไปจากระบบประมาณ 40 เมกะวัตต์ เป็นผลให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหยุดทำงานลงอีก 4 ยูนิต ทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าและไอน้ำได้เพียงพอต่อความต้องการของบริษัทฯ และลูกค้า จึงทำให้เกิดกรณีดังกล่าว

“อย่างไรก็ตาม กนอ.ได้มีหนังสือแจ้งไปยังโรงงานดังกล่าวแล้วเพื่อให้ปรับปรุงและเพิ่มมาตรการป้องกันอุปกรณ์ในหน่วยผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ โดยให้พิจารณาเพิ่มระบบป้องกันไฟฟ้า หรือระบบตรวจจับความผิดปกติจากเดิมที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ทางโรงงานฯ ต้องหารือร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยหากได้ข้อสรุปประการใดให้แจ้ง กนอ.ทราบแนวทางปฏิบัติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้ขึ้นซ้ำอีก” ผู้ว่าการ กนอ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น