xs
xsm
sm
md
lg

จับตาสื่อโฆษณาดิจิทัลมาแรง ลุ้นทะลุ 2.28 หมื่นล้าน ขึ้นแท่นสื่อหลัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - DAAT ร่วมกับ คันทาร์ คาดการณ์เม็ดเงินโฆษณาบนสื่อดิจิทัลปี 64 แตะ 22,800 ล้านบาท โต 8% พร้อมเผยผลสำรวจมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาบนสื่อดิจิทัลปี 2563 พบกลุ่มรถยนต์อัดฉีดโฆษณาสูงสุด 2,713 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มเครื่องดื่มนอนแอล ใช้งบเพิ่มขึ้น 36% ส่วนปีนี้แนะยังคงต้องปรับตัวให้เร็วแบรนด์จึงจะยืนหยัดอยู่ได้

สถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563) ที่ระบาดอย่างหนัก เม็ดเงินโฆษณาโดยรวมก็หดตัวลงด้วยเช่นกัน แต่ดูเหมือนว่าเม็ดเงินโฆษณาในส่วนของสื่อดิจิทัลจะยังคงประคองตัวรอดมาได้แบบน่าสนใจ

ทั้งนี้ นายศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) วิเคราะห์ว่า วิกฤตเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบทั้งในทางบวกและทางลบต่ออุตสาหกรรมโฆษณา แม้งบประมาณของอุตสาหกรรมโฆษณาโดยรวมจะลดลง แต่ในทางกลับกัน โฆษณาดิจิทัลก็ยังสามารถเติบโตขึ้นได้จากการปรับตัวของนักการตลาดที่เท่าทันพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้ชีวิตอยู่กับโลกออนไลน์มากขึ้นช่วงล็อกดาวน์ ทำให้การวางแผนกลยุทธ์ไม่จำกัดเพียงเรื่องการสื่อสาร แต่รวมถึงการซื้อขายสินค้าด้วย

แม้ว่าจะเป็นการยากที่จะการคาดการณ์ว่าสุดท้ายอุตสาหกรรมโฆษณาจะฟื้นคืนมาในทิศทางใด โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงได้รับผลกระทบอย่างมากจากการลดลงของกำลังซื้อของผู้บริโภค แต่โฆษณาดิจิทัลจะยังสามารถเติบโตขึ้นได้ เนื่องจากผู้บริโภคยังใช้สื่อออนไลน์ในชีวิตประจำวันเพื่อการสื่อสาร การสืบค้น การเรียนรู้ และการใช้ 


อย่างไรก็ตาม แม้แบรนด์ส่วนใหญ่ยังคงลงโฆษณาในแพลตฟอร์มหลัก แต่ในขณะเดียวกันก็มีแพลตฟอร์มใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น การรายงานผลในปี 2564 นี้จะมีการเพิ่มโฆษณาในส่วนของติ๊กต็อก และอีคอมเมิร์ซ เข้ามาเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมดิจิทัลของผู้บริโภคที่ใช้งานแพลตฟอร์มเหล่านี้มากขึ้น และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับนักการตลาด

โดยคาดการณ์ว่าในปี2564 นี้ เม็ดเงินโฆษณาบนสื่อดิจิทัลจะโตขึ้น 8% หรือมีมูลค่าราว 22,800 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 21,058 ล้านบาท โตจากปีก่อนหน้า 8% เช่นกัน

สำหรับงบโฆษณาในสื่อดิจิทัลที่มีการเก็บข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 มีมูลค่า 2,783 ล้านบาท

ปี 2556 มีมูลค่า ประมาณ 4,248 ล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงปีที่มีการเติบโตมากที่สุดถึง 53%
ปี 2557 มีมูลค่าประมาณ 6,115 ล้านบาท เติบโต 44%
ปี 2558 มีมูลค่าประมาณ 8,084 ล้านบาท เติบโต 32%
ปี 2559 มีมูลค่าประมาณ 9,479 ล้านบาท เติบโต17%
ปี 2560 มีมูลค่าประมาณ 12,402 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นปีแรกที่มูลค่าทะลุเกินหลักหมื่นล้านบาท และเติบโต 31%
ปี 2561 มีมูลค่าประมาณ 16,928 ล้านบาท เติบโต 36%
ปี 2562 มีมูลค่าประมาณ 19,555 ล้านบาท เติบโต 16%
ปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่เผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 มีมูลค่าประมาณ 21,058 ล้านบาท แต่ก็เป็นปีแรกเช่นกันที่มีมูลค่ารวมทะลุเกินหลัก 2 หมื่นล้านบาทได้ และเป็นปีแรกเช่นกันที่มีการเติบโตเพียงหลักเดียว คือ เติบโต 8%


ด้านนายราชศักดิ์ อัศวศุภชัย กรรมการสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลดีต่อภาพรวมของเม็ดเงินลงทุนบนสื่อดิจิทัลอย่างมาก เพราะแม้ว่าในช่วงครึ่ปีแรกมีการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างเชื่องช้าก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังยอดการลงทุนโฆษณาของสินค้าแบรนด์ต่างๆ ในสื่อดิจิทัลมีมากข้นทำให้สามารถกลับมาเติบโตได้ โดยเพิ่มขึ้นถึง 8% ทั้งปี ซึ่งมากกว่าตัวเลขประมาณการณ์การเติบโต ของอุตสาหกรรมที่ 0.3% ที่สมาคมฯ ได้ทำการคาดการณ์ไว้เมื่อรอบเสนอผลสำรวจช่วงกลางปี 2563


โดย 5 อันดับสูงสุดอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนใช้งบสื่อดิจิทัลมากที่สุดเมื่อปีที่แล้ว (2563) คือ

1. กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ใช้ประมาณ 2,713 ล้านบาท แต่ก็ตกลงจากปีก่อนหน้าถึง 3% 2. กลุ่มเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ 1,993 ล้านบาท, กลุ่มการสื่อสาร 1,979 ล้านบาท, กลุ่มสกินแคร์ 1,922 ล้านบาท และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม 1,717 ล้านบาท ทั้งนี้กลุ่มอุตสาหกรรมใน 4 อันดับแรกยังคงครองตำแหน่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนในโฆษณาดิจิทัลมากที่สุดโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ขณะที่กลุ่มธุรกิจธนาคารที่เคยอยู่ในลำดับที่ 5 ในปีก่อนหน้านี้ได้ถูกแทนที่โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเพิ่มเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัล ได้แก่ กลุ่มเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮล์ +36% และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม +41% และในทางกลับกัน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ -36% กลุ่มธุรกิจธนาคาร -30%) กลุ่มธุรกิจประกัน-22% และกลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม-40% เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลดการใช้เงินบนสื่อดิจิทัล เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของความต้องการและพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค Facebook และYouTube ยังคงเป็นแพลตฟอร์มหลักที่แบรนด์ต่างๆ เลือกใช้ในการสื่อสารกับผู้บริโภค 

โดยเม็ดเงินบนสื่อดิจิทัลประเภท Facebook YouTube และCreative สามารถครองสัดส่วน ร้อยละ 60 ของเงินลงทุนในโฆษณาดิจิทัลทั้งหมดในปี 2563 นอกจากนี้Social +28% และSearch +15% ยังเป็นสื่อที่มีการเติบโตในปีที่ผ่านมา ไม่นับรวม E-commerce และ TikTok ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่ที่ถูกเพิ่มเข้ามาในการสำรวจในปีนี้ สำหรับปี 2564 แม้สถานการณ์โควิดจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในการดำเนินชีวิต การท่องเที่ยว รวมไปถึงการจับจ่ายใช้สอย แต่ DAAT ได้ทำการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัลจะยังคงมีการเติบโตในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับปี 2563 และสื่อออนไลน์จะไม่ถูกจัดเป็นสื่อรองอีกต่อไป แต่จะกลายมาเป็นสื่อหลักในการเชื่อมโยงผู้คนผ่านการสร้างสรรค์และสามารถสร้างความผูกพันกับผู้บริโภคได้ แต่นักการตลาดจะต้องเข้าใจว่าในสภาพแวดล้อมที่เศรษฐกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นทุกคนจะต้องรู้จักปรับตัวให้รวดเร็วหากต้องการให้แบรนด์และสินค้าสามารถยืนหยัดอยู่ได้.






กำลังโหลดความคิดเห็น