xs
xsm
sm
md
lg

กคช.เปิดให้จอง 'บ้านเคหะสุขประชา' นำร่อง 2 โครงการ จ่อชง ครม.พัฒนาเพิ่ม 21 โปรเจกต์ 5,600 ยูนิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(คนกลาง) นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ
การเคหะฯ เปิดให้จองแล้วกับโครงการบ้านเช่า "เคหะสุขประชา" วันนี้ถึง 31 มี.ค.เพื่อส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัย นำร่อง 2 โครงการ "ฉลองกรุง/ร่มเกล้า" รวม 572 ยูนิต ชูคอนเซ็ปต์บ้านพร้อมอาชีพ พร้อมนำผลผลิตส่งต่อชุมชนกว่า 74,000 ครอบครัว เชื่อมต่อเป็นระบบ เกิดรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเติบโต จ่อชง ครม.เข็น "เคหะสุขประชา" อีก 21 โครงการกว่า 5,600 ยูนิต

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยในงานแถลงข่าว "เคหะสุขประชา บ้านพร้อมอาชีพ โครงการนำร่อง ฉลองกรุง/ร่มเกล้า" ว่า เป็นโครงการที่รองรับประชาชนที่ไม่มีบ้าน ซึ่งในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา กคช.ยังไม่สามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้มาก แต่เรายังต้องมุ่งมั่นและเดินหน้าต่อ โครงการนำร่อง "เคหะสุขประชา" จึงได้เกิดขึ้น เป็นไปตามแผนงานที่เสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ในเรื่องของการลงทุนระหว่างปี เพื่อให้ทางสภาพัฒน์ได้เห็นแนวทางในการทำงานของ กคช. ขณะเดียวกัน จะทำแผนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการดำเนินงานเพิ่มอีก 21 โครงการ ประมาณ 5,600 กว่าหน่วย เพื่อรองรับความต้องการของประชาชน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ กคช.ได้รับโจทย์จากรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว


"รัฐบาลมองว่า ในอนาคตโอกาสประชาชนจะเข้าถึงที่อยู่อาศัยจะเริ่มยากมากขึ้น จากผลกระทบการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก ทางรัฐบาลได้มอบนโยบาย และทาง กคช.ได้เสนอแนวคิด เคหะสุขประชา ให้ ครม.รับทราบตั้งแต่ปี 2563 หลังจากนั้นได้พัฒนาโครงการขึ้นมา ต้องยอมรับว่าโครงการดังกล่าวทาง กคช.พยายามทำด้วยความระมัดระวัง เพราะเรามีบทเรียนและพยายามถอดบทเรียนจากสิ่งที่เคยดำเนินการมาในอดีต ไม่ให้เกิดปัญหาอีก"

โดยการดำเนินงาน "บ้านเคหะสุขประชา" นั้น มีการทำโครงการนำร่อง ซึ่งได้ขออนุมัติจากสภาพัฒน์ เป็นไปตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี ในเรื่องการลงทุนระหว่างปีงบประมาณ 2564 ทางสภาพัฒน์เห็นประโยชน์ในการพัฒนาโครงการนำร่อง ได้แก่ โครงการฉลองกรุง จำนวน 302 หน่วย โครงการร่มเกล้า จำนวน 270 หน่วย

ซึ่งในพื้นที่เศรษฐกิจสุขประชาในพื้นที่โครงการฉลองกรุง จะมีตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ ส่วนในโครงการร่มเกล้า จะมีลักษณะเหมือนคอมมูนิตีมอลล์ เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถเช่าพื้นที่ได้ ซึ่งผู้เช่าทุกคนเมื่อเช่าในโครงการเคหะสุขประชา ต้องมาร่วมกันทำเศรษฐกิจสุขประชาด้วย เพราะทาง กคช.ต้องการทำเป็นโครงการต้นแบบเพื่อนำไปพัฒนาต่อ

"รูปแบบที่วางไว้เพื่อให้ผู้เช่าในเคหะสุขประชา มีบ้านเช่า มีรายได้จากการทำธุรกิจเพื่อสามารถชำระค่าเช่าได้ แต่หากเป็นในพื้นที่ต่างจังหวัดจะเน้นในภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก ผู้ที่ตกงานอันเป็นผลมาจากโควิด-19 เมื่อกลับบ้านก็สามารถมีอาชีพเป็นของตนเองได้ ทางต่างจังหวัดจะเปรียบเสมือนเป็นต้นน้ำในการผลิตสินค้าเกษตรไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม หรือปศุสัตว์ ผลิตสินค้า โดย กคช.ทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลางในการขนถ่ายสินค้าไปสู่ปลายน้ำ ซึ่งตลอด 48 ปี ของ กคช. มีที่อยู่อาศัยไม่ต่ำกว่า 742,000 หน่วย มีผู้อยู่อาศัยเฉลี่ย 3 คน เท่ากับมีผู้อยู่อาศัยในโครงการของ กคช.ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน เกิดกระบวนการทำงานที่เชื่อมต่อกันเป็นระบบ เงินในระบบเกิดการหมุนเวียนที่ดีขึ้น ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ และตอบโจทย์รัฐบาลในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมลง"


สำหรับ "เคหะสุขประชา" หรือบ้านพร้อมอาชีพ ทาง กคช.จะดำเนินการตามกรอบในการส่งมอบไว้ที่ 100,000 หน่วย ระหว่างพ.ศ.2564-2568 หรือปีละ 20,000 หน่วยต่อปี ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2564 เริ่มเปิดลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 08.30 น.เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 30 มีนาคม 2564 ในเวลา 24.00 น. โดยผู้ลงทะเบียนจะต้องเป็นกลุ่มคนที่เปราะบางของทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ พ่อเดียว แม่เดียว คนไข้ติดเตียง ผู้ประสบปัญหาคนไร้บ้าน คนไร้อาชีพ คนเหล่านี้จะมีส่วนเข้ามาอยู่ในกลุ่มเปราะบาง รวมถึงกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเหตุโควิด-19 เช่น ตกงาน หรือต้องย้ายภูมิลำเนา เป็นกลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ 0-30,000 บาทต่อเดือนต่อครอบครัว

แบบบ้านเคหะสุขประชา มี 4 รูปแบบ ประกอบด้วย แบบ X (สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ) พื้นที่ใช้สอย 30 ตารางเมตร (ตร.ม.) ค่าเช่า 1,500 บาทต่อเดือน แบบ A (ผู้มีสถานะโสด) พื้นที่ใช้สอย 30 ตร.ม. ค่าเช่า 2,000 บาทต่อเดือน แบบ B (ครัวเรือนใหม่ 1 ห้องนอน) พื้นที่ใช้สอย 40 ตร.ม. ค่าเช่า 2,500 บาทต่อเดือน และแบบ C (ครอบครัว 2 ห้องนอน) พื้นที่ใช้สอย 50 ตร.ม. ค่าเช่า 3,000 บาทต่อเดือน

โดยจัดสรรพื้นที่ภายในโครงการเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ผู้อยู่อาศัย สามารถเลี้ยงตนเองได้ โดยเคหะสุขประชามี 6 รูปแบบ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมการพัฒนาโครงการแต่ละพื้นที่ ได้แก่ เกษตรอินทรีย์ เช่น พืชระยะสั้น พืชล้มลุก ผลไม้ยืนต้น ปศุสัตว์ เช่น ไข่ไก่ ไข่นกกระทา ไข่เป็ด ปลาดุก ปลาทับทิม งานบริการดูแลผู้สูงอายุ สร้างงานในชุมชน กลุ่มแม่บ้าน เป็นต้น


ส่วนเงื่อนไขการจองประกอบด้วย

1.ผู้จองสิทธิต้องแสดงเจตจำนงการเข้าอยู่อาศัยประจำและร่วมดำเนินกิจการเศรษฐกิจสุขประชา (ต้องเข้าอบรมโครงการสุขประชา (Sukpracha Academy) ตามที่การเคหะแห่งชาติกำหนด

2.ผู้จองสิทธิกรณีเป็นผู้สูงอายุต้องมีสุขภาพแข็งแรง สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือกรณีเป็นคนพิการต้องขึ้นทะเบียนคนพิการกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้หรือมีผู้ดูแลเป็นการเฉพาะ

3.ให้สิทธิจองที่อยู่อาศัยโครงการบ้านเคหะสุขประชาใดๆ เพียงครอบครัวละ 1 หน่วย (ครอบครัว หมายถึง บิดา มารดา สามี ภรรยา (นิตินัยหรือพฤตินัย) บุตรหรือบุตรบุญธรรม)

4.ไม่สามารถโอนสิทธิการจองและสิทธิการเช่าให้แก่ผู้อื่น และไม่อนุญาตให้เช่าช่วง

5.ผู้จองสิทธิต้องชำระค่าเช่าล่วงหน้าหรือเงินมัดจำ 1 เดือน โดยค่าเช่าขึ้นอยู่กับประเภทของรูปแบบบ้านในแต่ละโครงการ

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนจองอาคารเช่าโครงการบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า และโครงการบ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุง ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2564 เวลา 08.30 น. ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2564 เวลา 24.00 น. สามารถลงทะเบียนจองทางเว็บไซต์ของการเคหะแห่งชาติ www.nha.co.th หรือ LINE OA : @NHA.THAILAND หากไม่สะดวกมาลงทะเบียนด้วยตนเองได้ที่สำนักงานใหญ่ การเคหะแห่งชาติ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ หรือสำนักงานเคหะชุมชนของการเคหะแห่งชาติทั่วประเทศ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม Call Center 1615
กำลังโหลดความคิดเห็น