“สศอ.” เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI ก.พ. 64 หดตัว 1.08% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหลังผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่ ชี้แนวโน้มจะดีขึ้นหลังรัฐเริ่มผ่อนคลาย เปิดท่องเที่ยว โลกฉีดวัคซีนเพิ่มแนวโน้มส่งออกฟื้นตัว
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกุมภาพันธ์ 2564 อยู่ที่ 99.68 หดตัว 1.08%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน ก.พ. 64 อยู่ที่ระดับ 65.08% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 65.57 เนื่องจากการกลับมาระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ทำให้รัฐออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโดยกำหนดพื้นที่ควบคุม อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รัฐได้มีการผ่อนคลายมาตรการแล้วแนวโน้มการผลิตของภาคอุตสาหกรรมคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ตามลำดับ โดยสศอ.ยังคงคาดการณ์ดัชนี MPI ปีนี้จะขยายตัว 2.0-3.0% และผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัว 2.5-3.5%
“ความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหลายประเทศ รวมถึงไทยและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีต่อเนื่องทั้งโครงการคนละครึ่ง เราชนะ ฯลฯ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการผลิตและการบริโภค รวมถึงล่าสุดนโยบายการเปิดประเทศ ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหักทองและรายการพิเศษ เดือน ก.พ. 2564 ขยายตัว 6.94% โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่จะสะท้อนมายังดัชนีเชื่อมั่นในอนาคต” นายทองชัยกล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมที่เป็นปัจจัยบวก ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาลที่โรงงานเริ่มปิดหีบแล้วบางส่วนมีการละลายน้ำตาลดิบเป็นน้ำตาลทรายอย่างต่อเนื่อง, ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16.3% จากความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ยังมีความต้องการต่อเนื่องรถยนต์และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.97% จากรถบรรทุกปิคอัพ และเครื่องยนต์ดีเซล ที่มีคำสั่งซื้อทะยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งผู้ผลิตมีการผลิตรถรุ่นใหม่ๆ
เม็ดพลาสติก ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16.43% จากความต้องการที่ขยายตัวในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ ทั้งบรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ ประกอบกับปีก่อนมีผู้ผลิตหลายรายหยุดซ่อมบำรุงตามรอบการซ่อมบำรุง เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16.04% การเร่งผลิตเพื่อขายทำกำไรในช่วงที่ยังมีภาวะขาดแคลนสินค้า (Short Supply) และผลิตรองรับความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ รวมทั้งความต้องการจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นต้น