อีก 14 ปี คือปี พ.ศ. 2578 รถทุกคันทุกชนิดที่ผลิตในประเทศไทย จำนวน 18.4 ล้านคัน จะเป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทุกคัน เป็นรถที่ใช้ไฟฟ้าขับเคลื่อน 100% ไม่ใช่รถลูกผสมกึ่งน้ำมัน กึ่งไฟฟ้า ไฮบริด-ปลั๊กอินไฮบริด
นั่นคือ วิสัยทัศน์ที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือบอร์ดอีวี ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นการประชุมครั้งแรกของปีนี้ และเป็นการประชุมครั้งที่ 2 ตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งบอร์ดอีวีขึ้นมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว และมีการประชุมครั้งแรกในเดือนถัดมา แต่หลังจากนั้น ก็ไม่ได้มีการประชุมอีกเลย เพราะการปรับ ครม.ในเดือนกรกฎาคม 2563 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่เป็นประธานบอร์ดอีวีพ้นจากตำแหน่ง ทำให้บอร์ดอีวีไม่มีหัว จนกระทั่งพล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ เป็นประธานบอร์ดอีวี เมื่อเร็วๆ นี้
มติของบอร์ดอีวีครั้งนี้ถือเป็นการประกาศตัวอย่างเป็นทางการของประเทศไทยว่า เราจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก และเป็นฐานการผลิตหลักในเอเชียแปซิฟิก โดยมีโรดแมปแผนดำเนินการที่ชัดเจนว่าจะก้าวไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร ประเทศอาเซียนหลายๆ ประเทศ ต้องการเป็นฐานการผลิตรถอีวี เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย แต่ยังไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน รวมทั้งประเทศไทยด้วย มีแต่เป้าหมายกว้างๆ ว่า ใน 5 ปี 10 ปีข้างหน้า จะผลิตรถไฟฟ้าเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของการผลิตรถทั้งหมด
ตรงนี้ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกไม่มั่นใจในการลงทุน เพราะการเปลี่ยนจากผลิตรถใช้น้ำมัน หรือที่เรียกว่า รถสันดาปภายใน ไม่เหมือนการเปลี่ยนรุ่นรถ แต่เป็นการเปลี่ยนแบบโละทิ้งของเก่าหมด คือ เปลี่ยนทั้งโครงสร้างอุตสาหกรรม ต้องทิ้งสายการผลิตแบบเดิม สร้างสายการผลิตใหม่ ซึ่งต้องลงทุนสูงมาก และต้องการหลักประกันในเรื่องตลาดว่า จะมีผู้ใช้ที่มากพอต่อการลงทุน
มติบอร์ดอีวีเรื่องรถไฟฟ้า 100% ภายในปี 2578 คือ ความชัดเจนที่อุตสาหกรรมรถยนต์ของโลก ที่หลายค่ายมีฐานการผลิตในประเทศไทยอยู่แล้วรอคอย นอกจากเป้าหมายรถไฟฟ้า 100% ที่เป็นจุดหมายปลายทางแล้ว บอร์ดอีวียังกำหนดเป้าหมายในแต่ละช่วงก่อนที่จะถึงปี 2578 ด้วย กล่าวคือ
อีก 4 ปีคือ ปี 2568 มีเป้าหมายการผลิตรถไฟฟ้า 1.05 ล้านคัน แบ่งเป็นรถยนต์/ปิกอัพ 4 แสนคัน รถจักรยานยนต์ 6.2 แสนคัน รถบัส รถบรรทุก 31,000 คัน
อีก 10 ปีคือ ปี 2573 มีเป้าหมายผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 50% และในปี 2578 ให้เพิ่มขึ้นเป็น 100% จำนวน 18.4 ล้านคัน แบ่งเป็นรถยนต์/ปิกอัพ 8.6 ล้านคัน รถจักรยานยนต์ 9.3 ล้านคัน รถบัส รถบรรทุก 458,000 คัน
ปัจจุบัน คนไทยรับรู้ รู้จักรถไฟฟ้ามากขึ้น จากการทำตลาดของผู้ผลิตรถไฟฟ้าที่จำหน่ายในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นรถนำเข้า และเป็นรถแบบกึ่งไฟฟ้า กึ่งน้ำมัน หรือไฮบริด แต่สถานการณ์กำลังจะเปลี่ยนไป หลังจากบริษัท เกรท วอลล์ หนึ่งในผู้ผลิตรถไฟฟ้า 100% ชั้นนำของโลกจากจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยซื้อกิจการของเชฟโรเลต และเริ่มการผลิตแล้วในปีนี้ โดยประกาศว่า จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้าในเอเชียแปซิฟิก
ก่อนหน้านี้หลายปี ผู้นำรถไฟฟ้าจากจีนอีกรายหนึ่งคือ เซี่ยงไฮ้ ออโต้โมทีฟ อินดัสทรี ได้ร่วมทุนกับกลุ่มซีพี ผลิตรถยนต์ยี่ห้อเอ็มจี ทั้งที่เป็นรถใช้น้ำมัน และเปิดตัวรถไฟฟ้า 100% เมื่อเร็วๆ นี้ นอกจากขายในประเทศแล้ว ยังส่งออกไปอินโดนีเซีย และเวียดนามด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของรถไฟฟ้าคือ 1. ราคายังสูงเกินไป 2. ประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ และ 3. โครงสร้างพื้นฐาน คือ สถานีชาร์ตไฟยังไม่พร้อม ดังนั้น นอกจากกำหนดเป้าหมายรถไฟฟ้า 100% ในปี 2078 แล้ว บอร์ดอีวียังตั้งอนุกรรมการ 4 ชุดเพื่อกำหนดแนวทางมาตรการแก้ไข “Pain Point” 3 ข้อของรถไฟฟ้า ทั้งในเรื่องการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า และชิ้นส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและแบตเตอรี่ แนวทางส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้าที่เป็นรูปธรรม และประเมินผลกระทบด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซเรือนกระจก
โดยมีกำหนดให้อนุกรรมการทั้ง 4 ชุด ส่งการบ้านในการประชุมบอร์ดอีวี นัดต่อไปวันที่ 13 พฤษภาคมนี้
อุตสาหกรรมรถไฟฟ้า เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่ทั่วโลกกำลังผลักดัน และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่จะขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้พ้นประเทศรายได้ปานกลางไปเป็นประเทศที่ประชาชนมีรายได้สูง และเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ประเทศไทยมีจุดแข็ง ที่มีตลาดภายในประเทศที่รองรับการผลิตรถไฟฟ้าได้ และมีโครงสร้างการผลิตรถใช้น้ำมัน เป็นฐานการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การผลิตรถใช้ไฟฟ้า
มติบอร์ดอีวีวันที่ 24 มีนาคม ที่มีแนวทางชัดเจนในเรื่องรถไฟฟ้า เป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมรถไฟฟ้าเดินหน้าเต็มตัวได้อย่างมั่นใจ ในขณะเดียวกัน การประกาศวิสัยทัศน์รถไฟฟ้า 100% มีมิติในเรื่องสิ่งแวดล้อม คือ การลดก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ และฝุ่น PM 2.5 อย่างมีนัยสำคัญ