อากาศร้อน ภัยแล้ง ไม่เพียงส่งผลกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนเท่านั้น สัตว์ก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในหมู สัตว์ที่ไม่มีต่อมเหงื่อที่ช่วยระบายความร้อน เมื่อต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อน อบอ้าว หมูจะแสดงอาการ หอบ หายใจถี่
อาการหอบนี้หากเกิดในแม่อุ้มท้อง จะกระทบถึงการตั้งท้อง ช่วงร้อนจัดจึงเป็นช่วงที่ในฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ต้องลุ้นว่าสภาพอากาศจะเพิ่มความเครียด จนทำให้แม่หมูเกิดการแท้งเฉียบพลันหรือไม่ แล้วจำนวนลูกเสียหายแรกคลอดจะมากขึ้นหรือเปล่า ส่วนในหมูขุนอากาศร้อนและความเครียด ทำให้หมูกินอาหารน้อยลง อัตราการเจริญเติบโตจะต่ำลง โตไม่สม่ำเสมอ การสร้างภูมิคุ้มกันลดลง หมูอ่อนแอ อัตราเจ็บป่วยมากขึ้น เปอร์เซ็นต์เสียหายเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายทั้งเรื่องค่าอาหารและค่าเวชภัณฑ์เพื่อการดูแลหมูจึงสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
ขณะที่ปีนี้คาดว่า ไทยจะต้องเผชิญปัญหาภัยแล้งหนักหนากว่าทุกปี จากรายงานของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ที่ระบุว่าปริมาณฝนสะสมในปี 2563 ของไทยมีค่าน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 4 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ฝนน้อยกว่าปกติเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน (2562-2563) ส่งผลให้ฤดูแล้งนี้จะมีน้ำไม่เพียงพอต่อภาคการเกษตร ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคของคนเลี้ยงหมู เพราะหมูเป็นสัตว์ที่บริโภคน้ำมาก โดยพ่อแม่พันธุ์หมูใช้น้ำเฉลี่ยวันละ 130 ลิตรต่อตัว ส่วนหมูขุนใช้น้ำเฉลี่ยวันละ 40 ลิตรต่อตัว
วันนี้ จึงเห็นเกษตรกรหลายพื้นที่ต้องซื้อน้ำจากแหล่งอื่นมาใช้ในฟาร์ม ทั้งสำหรับให้หมูกิน ใช้ทำความสะอาดโรงเรือน และหล่อเลี้ยงระบบทำความเย็น หรือ อีแวป บางพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก ต้องซื้อน้ำทุกวัน ทำให้มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีก
ตัวอย่างเช่น เดิมต้นทุนการใช้น้ำต่อตัวหมูขุนเคยอยู่ที่ประมาณ 30 บาทต่อตัว ก็เพิ่มขึ้นเป็น 300-600 บาทต่อตัว หรือ 3-6 บาทต่อหมู 1 กิโลกรัม จากค่าน้ำที่ราคาต่อเที่ยวประมาณ 3,000 บาทต่อน้ำ 1 หมื่นลิตร สำหรับฟาร์มขนาดเล็กใช้น้ำราวๆ 2 เที่ยวต่อวัน ต้นทุนในส่วนนี้จึงเพิ่มขึ้นถึง 6,000 บาทต่อวัน หากเป็นฟาร์มใหญ่ต้องใช้นํ้ามากขึ้น ต้นทุนก็จะยิ่งสูงตามไปด้วย
นอกจากนี้ ในฤดูร้อนเกษตรกรยิ่งมีความเสี่ยงกับการเกิดโรค โดยเฉพาะกลุ่มอาการของโรคในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในหมู หรือ โรคเพิร์ส (PRRS) ที่พบการระบาดในหลายพื้นที่ในปัจจุบัน โรคนี้ทำให้หมูแท้งลูกในระยะท้ายๆ ของการอุ้มท้อง ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงหมูอนุบาลและหมูขุนทำให้อัตราเสียหายเพิ่ม เมื่อจำนวนหมูที่สามารถจับออกขายได้น้อยลง ต้นทุนการเลี้ยงจึงพุ่งสูงขึ้น เพราะตัวเฉลี่ยต้นทุนลดลง
ขณะเดียวกัน เกษตรกรทั้งประเทศยังต้องร่วมใจกันยกระดับการเฝ้าระวังและป้องกันโรค ASF ซึ่งความพยายามที่เข้มแข็งของทุกคนในวงการหมู ทำให้ไทยเป็นประเทศเดียวที่ปลอดโรคนี้ แม้จะต้องมีต้นทุนเพิ่มแต่เกษตรกรก็ยินดีทำตามมาตรฐานการเลี้ยงและการป้องกันโรคที่ภาครัฐแนะนำ ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายต้องเพิ่มขึ้นกว่า 100-200 บาทต่อตัว จากการใช้ยาฆ่าเชื้อพ่นป้องกันทุกวัน วันละ 2 ครั้ง และมีค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแรงงานเพิ่ม ยิ่งมีโรค PRRS เข้ามาสมทบด้วยแล้ว การป้องกันโรคยิ่งเข้มข้นขึ้น ด้วยการจัดการระบบ Biosecurity เต็มรูปแบบ เน้นการจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน ซึ่งจำเป็นต้องใช้ต้นทุนเพิ่มอีก 200-300 บาทต่อตัว
ยังไม่นับอีกหนึ่งอุปสรรคคือ วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ขยับราคาขึ้นต่อเนื่อง ทั้งกากถั่วเหลือง มันสำปะหลัง รำข้าว ปลายข้าว ถือเป็นอีกปัจจัยซ้ำเติมต้นทุนที่ต้องปรับตาม นับเป็นภาระหนักมากสำหรับคนเลี้ยง จากต้นทุนการลี้ยงหมูขุนเฉลี่ยไตรมาส 1/2564 ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประมาณการว่า อยู่ที่ 77.49 บาทต่อกิโลกรัม แต่เกษตรกรกลับขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มได้เพียง 79-80 บาทต่อกิโลกรัม และคาดว่า ต้นทุนการเลี้ยงในขณะนี้สูงกว่าตัวเลขที่ สศก.คาดการณ์ไว้แล้ว นั่นเท่ากับว่าคนเลี้ยงหมูแทบไม่มีกำไรเลย
แม้ว่าภาระต่างๆ จะถาโถม และปัจจัยรุมเร้าให้ต้นทุนสูงขึ้น แต่คนเลี้ยงหมูยังคงประคับประคองอาชีพเดียวของพวกเขาเอาไว้ เพื่อให้มีปริมาณหมูสำหรับผู้บริโภคอย่างเพียงพอ ... สำหรับผู้บริโภคเอง ต้องมีความเข้าใจในวงจรการเลี้ยงหมู ว่า กว่าจะเป็นเนื้อหมูที่รับประทานกันนั้น ต้องใช้เวลามากถึงครึ่งปี แน่นอนว่า ย่อมมีต้นทุน และเกษตรกรเองก็ต้องทุ่มเทในการทำอาชีพนี้ เพื่อสร้างอาหารให้กับผู้บริโภค ความต้องการเดียวของพวกเขา คือ ความเข้าใจในกลไกตลาด...ที่พอจะช่วยให้เกษตรกรมีแรงเลี้ยงหมูต่อไป
บทความโดย นายรัฐพล ศรีเจริญ นักวิชาการอิสระ