xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-ตุรกีนัดเจรจาเอฟทีเอรอบที่ 7 ผ่านทางไกล เน้นเปิดตลาดสินค้า ลดและเลิกภาษี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไทย-ตุรกี นัดประชุมเจรจาเอฟทีเอรอบที่ 7 ผ่านทางไกล เผยจะมุ่งเจรจาเปิดตลาดการค้าสินค้า ลดและยกเลิกภาษี และจัดทำข้อบทที่เหลือ ตั้งเป้าปิดดีลให้ได้ภายในปี 65 ชี้หากความตกลงมีผลบังคับใช้ จะดันการค้าสองฝ่ายขยายตัวได้ถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตุรกีจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ตุรกี รอบที่ 7 ระหว่างวันที่ 29 มี.ค. - 2 เม.ย. 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยการประชุมครั้งนี้จะเน้นการหารือเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า การลดและยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากร และการเจรจาจัดทำข้อบทเอฟทีเอ ซึ่งเป็นเรื่องต่อเนื่องจากการเจรจารอบที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายสรุปการเจรจาภายในปี 2565

“ไทยให้ความสำคัญกับการจัดทำเอฟทีเอ ไทย-ตุรกี มาโดยตลอด แม้ในช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 หัวหน้าคณะเจรจาทั้งสองฝ่ายยังได้หารือผ่านระบบทางไกลเป็นระยะ เพื่อปรับแผนการเจรจาให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน”

นางอรมนกล่าวว่า หากความตกลงเอฟทีเอมีผลบังคับใช้จะช่วยให้มูลค่าการค้าสองฝ่ายขยายตัวถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าสำคัญที่ไทยจะได้ประโยชน์ เช่น สิ่งทอ ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ ยางและผลิตภัณฑ์ หม้อไอน้ำ เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และผักและผลไม้เมืองร้อน เป็นต้น

ทั้งนี้ ตุรกีเป็นตลาดสำคัญของไทยในตะวันออกกลาง มีประชากรกว่า 80 ล้านคน มีความใกล้ชิดกับสหภาพยุโรป (อียู) ทั้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจการค้า และยังมีความตกลงสหภาพศุลกากรกับอียู ซึ่งถือเป็นความตกลงที่มีความเข้มข้นทางเศรษฐกิจการค้า อีกทั้งยังตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์การค้าที่สำคัญ ซึ่งเป็นประตูสู่ 4 อนุภูมิภาค ได้แก่ ตะวันออกกลาง แอฟริกาตอนเหนือ สหภาพยุโรป และยุโรปตะวันออก

นอกจากนี้ ตุรกียังเป็นคู่ค้าอันดับที่ 37 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยในปี 2563 การค้าระหว่างไทย-ตุรกี มีมูลค่า 1,339 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออกมูลค่า 952 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 388 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เสื้อผ้าสำเร็จรูป และเครื่องประดับอัญมณี


กำลังโหลดความคิดเห็น