“ส.อ.ท.” เกาะติดปัจจัยเสี่ยง ศก.ไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมาใกล้ชิด หลังยังคงยืดเยื้อและส่อเค้ารุนแรงมากขึ้น คาดกระทบส่งออกไทยไปเมียนมาปีนี้ลดลงต่อเนื่องอีกครั้ง หวั่นสหรัฐฯ ยกระดับแซงก์ชันยิ่งกระทบหนัก แนะรัฐเร่งคุมเข้มด่านชายแดนป้องกันการลักลอบเข้าไทยสกัดโควิด-19 ระบาดรอบ 3
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ส.อ.ท.ยังคงติดตามสถานการณ์ในเมียนมาที่ยังคงมีความรุนแรงต่อเนื่องหลังจากที่กองทัพของเมียนมาเข้ายึดอำนาจรัฐบาลและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี ซึ่งกังวลว่าหากมีการปราบปรามรุนแรงมากขึ้นอาจทำให้สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปใช้มาตรการคว่ำบาตรขั้นสูงห้ามประเทศใดๆ ทำการค้าขาย หากเป็นเช่นนั้นจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยภาพรวมอย่างมาก ดังนั้นจึงต้องติดตามประเด็นดังกล่าวใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นรัฐต้องเร่งควบคุมด่านชายแดนตามช่องทางธรรมชาติไม่ให้เกิดการลักลอบเข้ามาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น
“ขณะนี้สหรัฐฯ ได้แสดงจุดยืนต่อต้านรัฐประหารเมียนมา ทั้งคุมการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทหารไปยังเมียนมา ระงับธนาคารกลางเมียนมาในการเคลื่อนย้ายเงินทุนสำรองที่ฝากอยู่ในธนาคารในนิวยอร์ก และอื่นๆ ซึ่งการประท้วงยังคงรุนแรง ต้องติดตามว่าที่สุดจะไปในทิศทางใดเพราะจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น และสิ่งที่ไทยต้องเตรียมรับมือเร่งด่วน คือ การสกัดการอพยพที่อาจมีการลักลอบเข้ามาของชาวเมียนมาตามแนวชายแดนธรรมชาติหลังจากที่การประท้วงเริ่มมีการปะทะกันมากขึ้น เพราะอาจนำไปสู่การระบาดโควิด-19 รอบใหม่ที่รุนแรงได้อีกเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในระลอกที่ 2” นายเกรียงไกรกล่าว
ทั้งนี้ ปี 2563 การส่งออกสินค้าไทยไปเมียนมาอยู่ในระดับ 100,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ที่อยู่ระดับ 130,000 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ปี 2564 คาดว่าจะลดลงต่อเนื่องจากปัจจัยความไม่สงบภายในประเทศของเมียนมาที่เริ่มมีการประท้วงรุนแรง โดยมีการเผาโรงงานซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจไทยในเมียนมา ล่าสุดมีทั้งหยุดการผลิต และการลดกำลังการผลิตลงเฉลี่ย 30-40% เนื่องจากแรงงานบางส่วนผละงานไปร่วมประท้วง ประกอบกับเส้นทางขนส่งสินค้าถูกปิดบางส่วน และการส่งออกไทยไปยังเมียนมามีผลกระทบมากขึ้นแล้ว
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและเป็นความหวังทั่วโลก คือ วัคซีนโควิด-19 ซึ่งไทยเองก็เช่นกัน แม้ว่าอาจจะดูไม่ปลอดภัยแต่หากฉีดเร็วก็จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ โดยขณะนี้หลายประเทศต่างระดมการฉีดให้แก่ประชาชน ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องเร่งรีบในการกระจายวัคซีน-19 เพื่อให้เข้าถึงประชาชนทั้งประเทศโดยเร็ว ซึ่ขณะที่เอกชนเองก็กังวลเพราะหากประเทศอื่นๆ ฉีดหมดแล้วมีภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ไทยยังไม่ครบก็ไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นได้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย
“รัฐควรเปิดทางให้เอกชนสามารถนำเข้ามาได้ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐกำหนด เพื่อที่จะช่วยกระจายการฉีดให้เร็วขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจไทย” นายเกรียงไกรกล่าว
นอกจากนี้ เห็นว่าภาครัฐควรจะต้องวางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้ให้ต่อเนื่อง เพราะขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกมีการอัดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมากโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ไทยจำเป็นต้องเตรียมไว้เช่นกัน เพราะปีนี้แนวโน้มการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เคยมีกว่า 40 ล้านคนจะยังกลับเข้ามาได้ต่ำมาก แรงซื้อของคนไทยยังจำเป็นต้องอาศัยเม็ดเงินกระตุ้นจากภาครัฐเพื่อประคองเศรษฐกิจในระยะยาว