“ศักดิ์สยาม” ตั้งอนุฯ ตั๋วร่วม 2 ชุดลุยกำหนดมาตรฐานด้านเทคนิคและค่าธรรมเนียม วางโมเดลจัดสรรรายได้ ใช้บัตรใบเดียวข้ามระบบเก็บแรกเข้าครั้งเดียว “ผอ.สนข.” มั่นใจใช้ได้ในปีนี้ ส่วน รฟม.เร่งตั้งเคลียริ่งเฮาส์จัดสรรรายได้กลาง
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำระบบตั๋วร่วมและค่าโดยสารร่วมว่า เมื่อวันที่ 11 มี.ค. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม 2 ชุด คือ 1. คณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยี 2. คณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานอัตราค่าโดยสารและจัดสรรรายได้ ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานการจัดเก็บค่าธรรมเนียมมาตรฐานอัตราค่าโดยสารในกรณีใช้ค่าโดยสารร่วม
โดยมีผู้แทนจากนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญ และจากสถาบันการเงิน และทีดีอาร์ไอ เป็นต้น ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 2 ชุดจะเร่งสรุปรูปแบบและแนวทางเพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายตั๋วร่วมที่มี รมว.คมนาคมเป็นประธาน เพื่อให้สามารถใช้ระบบตั๋วร่วมข้ามระบบ และการใช้ตั๋วใบเดียวภายในปีนี้ตามเป้าหมาย
ส่วน สนข.อยู่ระหว่างดำเนินโครงการจัดทำแผนการกำกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม โดยมีระยะเวลาศึกษา 20 เดือน (ส.ค. 63-เม.ย. 65) วงเงินงบประมาณ 34.5 ล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการใน 5 เรื่องคือ 1. ทำแผนกำกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมเพื่อใช้ติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการ 2. จัดทำระบบโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วม/อัตราเดียว และอัตราค่าธรรมเนียมทางการเงินที่เหมาะสมเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการระบบขนส่งมวลชนทุกรูปแบบ
3. ทำแนวทางรูปแบบการจัดหาแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ชดเชยรายได้จากค่าโดยสารร่วม และสนับสนุนการพัฒนาระบบตั๋วร่วม เช่น จัดตั้งกองทุน เป็นต้น 4. พัฒนาระบบฐานข้อมูลการเดินทางและค่าโดยสาร (Data Base) 5. จัดทำร่างกฎหมายในการบริหารจัดการตั๋วร่วม
ผอ.สนข.กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารกรุงไทยเสนอที่จะเป็นผู้ลงทุนทำระบบตั๋วร่วมแบบ Account Based Ticketing (ABT) โดยใช้บัตร EMV Contactless (Europay Mastercard and Visa) ในการชำระค่าโดยสารว่า จะช่วยทำให้ระบบตั๋วร่วมเกิดได้เร็วขึ้น โดยกรุงไทยจะปรับปรุงระบบหัวอ่านเพื่อรองรับบัตรเครดิต/เดบิต ผู้ให้บริการระบบขนส่งไม่ต้องลงทุนเองเหมือนแนวทางเดิม เพียงสมัครเข้าร่วมกับธนาคารเท่านั้น เป็นรูปแบบเดียวกับใช้บัตรมาสเตอร์การ์ด และวีซ่าชำระค่าสินค้าและบริการอื่นๆ ซึ่งธนาคารจะคิดค่าธรรมเนียมตามระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย
ขณะที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะตั้งศูนย์บริหารจัดการรายได้กลางระบบตั๋วร่วมในภาคขนส่ง (CCH) โดยพัฒนาอัปเกรดซอฟต์แวร์ระบบตั๋วร่วมที่ สนข.เคยพัฒนาไว้เดิม ส่วนจะร่วมทุนกับผู้ประกอบการขนส่งตามโมเดลเดิมหรืออาจตั้งเป็นองค์กรกลางจะต้องพิจารณาอีกครั้ง
“การใช้งานของบัตร EMV คือ เมื่อมีการแตะบัตรเข้าและออกจากระบบขนส่ง หัวอ่านที่กรุงไทยปรับปรุงจะบันทึกข้อมูลการเดินทาง และส่งต่อให้ CCH ทำการประมวลผลและคิดค่าโดยสารและจัดสรรรายได้ให้แต่ละผู้ประกอบการ”
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายสำคัญของตั๋วร่วม คือ การเก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว เช่น เดินทางจากสีเขียวต่อสีน้ำเงินและสีแดง ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ จะพิจารณารูปแบบ กำหนดสูตรและโครงสร้างส่วนแบ่งรายได้ในแต่ละระบบ โดยผู้ประกอบการต้องยอมรับร่วมกัน ซึ่งเชื่อว่าเมื่อลดค่าแรกเข้า ค่าโดยสารรวมลดลงและทำให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มสามารถมีรายได้มาชดเชยการลดค่าแรกเข้าได้โดยที่รัฐไม่ต้องอุดหนุน