ประกาศแล้วกฎกระทรวงกำหนดความเร็วรถถนน 4 เลน ช่องขวาสุด 100-120 กม./ชม. “ศักดิ์สยาม” เช็กความพร้อมจ่อคิกออฟ สายเอเชีย “บางปะอิน-อ่างทอง” ขาออก 50 กม.ใน มี.ค.นี้ เตือนดูป้ายกำกับความเร็ว ปฏิบัติตามกฎจราจร ขับช้าเลนขวาเสี่ยงถูกใบสั่ง
นายศักดิ์สยาม ชิดขอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ตนได้ลงนามในกฎกระทรวงกำหนดความเร็วยานพาหนะให้ใช้ความเร็วสูงสุดได้ 120 กม/ชม. เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2564 ล่าสุดสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2564 แล้ว ส่วนการบังคับใช้นั้นจะต้องให้กรมทางหลวงจะเป็นผู้ออกประกาศผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน เพื่อกำหนดรายละเอียดสายทางที่จะบังคับใช้ความเร็วสูงสุดใหม่ต่อไป โดยภายในเดือน มี.ค.นี้จะนำร่องที่ถนนสายเอเชีย ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ขาออก สายบางปะอิน-อ่างทอง ตั้งแต่ กม.ที่ 0+000-กม.50+962
ทั้งนี้ จากนโยบายปรับเพิ่มอัตราความเร็วสูงสุดของรถยนต์บนถนนทางหลวง โดยพิจารณาจากความปลอดภัยเป็นสำคัญ โดยต้องพิจารณาลักษณะทางกายภาพ และสภาพการใช้พื้นที่ ตลอดจนการอยู่อาศัยซึ่งพบว่าสามารถปรับเพิ่มความเร็วสูงสุดของรถยนต์ส่วนบุคคลขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 90 กม./ชม. เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม.ได้ ทั้งนี้ เฉพาะพื้นที่ที่มีความปลอดภัยทางกายภาพซึ่งจะต้องเป็นถนนที่มีมาตรฐานสูงขนาด 4 ช่องจราจรขึ้นไป และไม่มีจุดตัดหรือจุดกลับรถเสมอระดับถนน มีการแบ่งทิศทางจราจรอย่างชัดเจน และมีเกาะกลางถนนเฉพาะแบบกำแพงกั้น (Barrier Median)
โดยกำหนดความเร็วสำหรับช่องจราจรขวาสุดไว้ไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. สูงสุดไม่เกิน 120 กม./ชม. เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุชนท้ายกันในช่องทางที่รถวิ่งด้วยความเร็ว พร้อมทำการปักป้ายกำกับความเร็วตลอดแนวเส้นทางโดยวิศวกรของหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น ป้ายจำกัดความเร็วไม่เกิน 30 กม./ชม.ในเขตชุมชน หรือเขตโรงเรียน ป้ายจำกัดความเร็วไม่เกิน 60 กม./ชม.ในบริเวณทางโค้ง ทางแยก หรือทางกลับรถ ป้ายจำกัดความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม.บริเวณทางตรงซึ่งสามารถทำความเร็วได้ แต่ต้องไม่เกินตามที่ป้ายกำหนด โดยผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามกฎจราจรและขับขี่ด้วยความเร็วตามที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุบนท้องถนนตลอดการเดินทาง
สำหรับประกาศกฎกระทรวงได้ กำหนดอัตราความเร็วตามประเภทรถ 7 ประเภท ได้แก่ 1. รถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน 2,200 กิโลกรัม หรือบรรทุกคนโดยสารเกิน 15 คน สามารถใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 90 กม./ชม. 2. รถในขณะลากจูงรถอื่น รถสี่ล้อเล็ก หรือรถยนต์สามล้อ ใช้ความเร็วไม่เกิน 65 กม./ชม. 3. จักรยานยนต์ ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม/ซม. ส่วนจักรยานยนต์กำลังเครื่องยนต์ตั้งแต่ 35 กิโลวัตต์ หรือกระบอกลูกสูบรวม 400 CC ขึ้นไป ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 110 กม./ชม. 4. รถโรงเรียนใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม.
5. รถโดยสารเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 15 คน ใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กม/ชม. 6. รถแทรกเตอร์ รถบดถนน หรือรถใช้งานเกษตรกรรม ใช้ความเร็วไม่เกิน 45 กม./ชม. 7. รถอื่นๆ นอกเหนือจากประเภทที่ 1-6 ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม.
โดยกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ได้ทำการสำรวจถนนทั่วประเทศตามหลักเกณฑ์ถนนที่สามารถจะใช้ภายใต้ประกาศความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม.ได้จะต้องมีขนาด 4 ช่องจราจรขึ้นไป ซึ่งทั่วประเทศมีประมาณ 12,000 กม. ซึ่งในวันที่ 15 มี.ค.จะสรุปได้ว่าหลังจากคิกออฟถนนสาย 32 แล้ว จะมีการประกาศใช้ในถนนสายใด ช่วงใดเพิ่มเติม โดยจะต้องมีการปรับปรุงกายภาพ ในด้านความปลอดภัยต่างๆ และติดตั้งป้ายแจ้งข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วนก่อน
อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางบก และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจต่อประชาชนเกี่ยวกับข้อมูลรายละเอียดที่ปรากฏในร่างกฎกระทรวง และสังเกตป้ายกำหนดความเร็ว ได้กำหนดความเร็วไว้ในช่องทางเดินรถ และปฏิบัติตามกฎจราจรเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน
“ต้องการให้ทยอยประกาศใช้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปีนี้ ส่วนการติดตั้งป้ายเตือนและป้ายกำหนดความเร็วต่างๆ ให้ใช้เงินจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน (กปถ.) มาดำเนินการ และหลังประกาศใช้ในเส้นทางต่างๆ ให้ประเมินผลด้วย พร้อมกันนี้ให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร ทั้งนี้ อาจจะมีการผ่อนผันในช่วงแรกสักระยะเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยก่อน”