xs
xsm
sm
md
lg

ครม.อนุมัติงบกลางปี 64 กว่า 1.3 พันล้าน ซ่อมถนน 5 จังหวัดใต้ที่เสียหายจากน้ำท่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ครม.อนุมัติงบกลาง 1,372.41 ล้านบาทให้ ทล.และ ทช.เร่งฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน 5 จังหวัดภาคใต้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยช่วงปลายปี 63 มีทั้งซ่อมแซมถนนและคอสะพานขาด เพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำ พร้อมป้องกันดินสไลด์

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (9 มี.ค.) มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 1,372.41 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ คือ จังหวัดตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส พัทลุง และสุราษฎร์ธานี ซึ่งเกิดเหตุอุทกภัยในช่วงระหว่างวันที่ 27 พ.ย.-18 ธ.ค. 2563 เนื่องจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและพื้นที่ภาคใต้ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ส่งผลให้ทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบทได้รับความเสียหาย สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนผู้ใช้เส้นทาง ส่งผลกระทบต่อการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ จึงต้องได้รับการซ่อมแซม

สำหรับงานซ่อมแซมแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ งานบูรณะทางหลวงแผ่นดินและโครงสร้างพื้นฐานของกรมทางหลวง (ทล.) เช่น งานก่อสร้างและซ่อมสะพาน งานแก้ไขและป้องกันดินสไลด์ งานฟื้นฟูและเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำ รวม 40 รายการ วงเงิน 985.32 ล้านบาท และงานบูรณะทางหลวงชนบทและโครงสร้างพื้นฐานของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เช่น งานซ่อมแซมถนนและคอสะพานขาด งานก่อสร้างโครงสร้างระบายน้ำ งานป้องกันการกัดเซาะ รวม 49 รายการ วงเงิน 387.09 ล้านบาท

ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นว่า กระทรวงคมนาคมควรประสานงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดการซ่อมแซมทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบท รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่ได้รับความเสียหายให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็ว โดยคำนึงถึงคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยเป็นสำคัญ ทั้งในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การก่อสร้างและฟื้นฟู และการส่งมอบงาน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถใช้เส้นทางสำหรับการสัญจรและการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ

นอกจากนี้ ให้บูรณาการแนวทางการจัดการอุทกภัยร่วมกัน เพื่อให้มีกรอบการดำเนินงานและบริหารจัดการที่เป็นระบบ มีประสิทธิภาพและสามารถรับมือกับสถานการณ์รวมถึงภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงทีในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น