xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.รับลูก “สุพัฒนพงษ์” เล็งศึกษาส่งเสริมใช้เตาไฟฟ้า หวังลดใช้ LPG-มอเตอร์ไซค์อีวี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กฟผ.รับนโยบาย “สุพัฒนพงษ์” เตรียมเร่งศึกษาแนวทางส่งเสริมให้คนไทยใช้เตาแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อลดการใช้แอลพีจีเพื่อการประกอบอาหารที่ต้องใช้เงินอุดหนุนสูงขึ้นต่อเนื่อง พร้อมให้ส่งเสริมรถมอเตอร์ไซค์พลังงานไฟฟ้า หรือ E-Bike โดยแยกแบตเตอรี่ออกมาเพื่อลดราคา ผนึกภาคีเครือข่ายรวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคตสร้างอากาศบริสุทธิ์

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
เปิดเผยในงานพิธีประกาศเจตนารมณ์การจัดการพลังงาน คุณภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อม "Breathe our future รวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต" โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงานเป็นประธานวันนี้ (4 มี.ค.) ว่า 5 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ กระทรวงพลังงาน กฟผ. กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าวเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีและอากาศบริสุทธิ์ ซึ่งในครั้งนี้ทาง รมว.พลังงานได้มอบหมายให้ กฟผ.ไปพิจารณาแนวทางส่งเสริมให้คนไทยหันมาใช้เตาแม่เหล็กไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในการหุงอาหารจำนวนมากซึ่งทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องอุดหนุนราคา

นอกจากนี้ยังมอบหมายให้ กฟผ.ไปพิจารณาแนวทางการส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า หรือ (E-Bike) ที่ กฟผ.ได้พัฒนาแบรนด์ EGAT E-Bike อยู่แล้วในขณะนี้แต่พบว่าราคารถเมื่อรวมแบตเตอรี่ยังสูงถึงคันละ 8.5 หมื่นบาท โดยพบว่าแบตเตอรี่ราคาคิดเป็น 50% จึงเป็นไปได้หรือไม่ที่จะขายเฉพาะตัวรถ แล้วแบตเตอรี่ให้ซื้อหรือเช่าเฉพาะ เหมือนกับระบบการเปลี่ยนถัง LPG ปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้รถอีวีสามารถแข่งขันกับรถน้ำมันได้มากขึ้น ซึ่ง กฟผ.จะเร่งไปหารือข้อสรุปทั้งหมดอีกครั้ง

ทั้งนี้ จากอดีตถึงปัจจุบัน กฟผ.ได้มุ่งมั่นสร้างพลังแห่งความสุข ทั้งการดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ การดูแลชุมชนให้อยู่ดีมีสุข รวมถึงการดูแลคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมผ่านเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพผ่านโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 และโครงการห้องเรียนสีเขียว รวมทั้งดูแลสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการปลูกป่า รักษาและลดการเผาป่า โดยจะต่อยอดการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นภายใต้แนวคิด EGAT Air TIME ประกอบด้วย

- T (Tree) การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อเพิ่มการดูดซับอากาศเสีย สร้างอากาศบริสุทธิ์ ผ่านโครงการปลูกป่า สร้างฝาย รวมไปถึงการดำเนินงานจิตอาสาป้องกันไฟป่า ลดการเผาป่า
- I (Innovation) การพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมการจัดการคุณภาพอากาศ ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการผลิตและใช้พลังงานสะอาด เช่น โครงการโซลาร์ลอยน้ำ ยานยนต์ไฟฟ้า
- M (Monitoring) ระบบตรวจวัดและแสดงผลคุณภาพอากาศด้วยแอปพลิเคชันรูปแบบต่างๆ เพื่อให้คนรู้และตระหนักนำไปสู่การปรับพฤติกรรม ด้วยการติดตั้งจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ชุมชนรอบ กฟผ. และเครือข่ายห้องเรียนสีเขียว
- E (Education & Engagement) การส่งเสริมองค์ความรู้ สร้างทัศนคติในการจัดการพลังงาน คุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการห้องเรียนสีเขียว ศูนย์เรียนรู้ กฟผ. รวมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน

ในปี 2564 กฟผ.มีแผนการติดตั้งจุดตรวจวัดฝุ่นละอองจำนวน 200 จุด ในพื้นที่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า เขต เขื่อนของ กฟผ. ฯลฯ


นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือในวันนี้จะเป็นการบูรณาการในด้านการพัฒนาระบบฐานข้อมูล เพื่อสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ในการคาดการณ์มลพิษทางอากาศ และสร้างเครื่องมือสำหรับให้บริการข้อมูลในการติดตามสถานการณ์มลพิษทางอากาศ เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนได้รับทราบสถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศ

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การร่วมมือกันครั้งนี้ถือเป็นความท้าทายที่ทุกหน่วยงานจะร่วมกันลดจุดอ่อน เพิ่มจุดแข็ง สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในการรับรู้สถานการณ์ การเฝ้าระวัง

ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ จะร่วมศึกษา ออกแบบ และพัฒนาแบบจำลองการวิเคราะห์และการคาดการณ์ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เพื่อรายงานผลคุณภาพอากาศและการแจ้งเตือนอัตโนมัติกรณีเข้าพื้นที่ที่คุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐาน
กำลังโหลดความคิดเห็น