ปัจจุบันรัฐบาลได้มีนโยบายรัฐบาลดิจิทัล มีเป้าหมายเพื่อมุ่งขับเคลื่อนการให้บริการงานภาครัฐให้มีความคล่องตัว มีความสะดวก รวดเร็ว และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและผู้ประกอบการที่มาใช้บริการ โดยหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงพาณิชย์ได้มีการนำนวัตกรรมดิจิทัลมาปรับใช้กับงานบริการ แต่ที่มีความโดดเด่นอีกหน่วยงานหนึ่ง ก็คือ “กรมการค้าต่างประเทศ” ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการอะไรมาบ้าง เรามาหาคำตอบจาก “นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ” ที่ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเส้นทางการพัฒนางานบริการด้านดิจิทัลของกรมการค้าต่างประเทศ ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน และเป้าหมายในอนาคต
งานบริการ คืองานเบื้องหลัง แต่สำคัญ
นายกีรติเริ่มเล่าว่า งานของกรมฯ นี้หลักๆ มี 3 ด้าน ด้านหนึ่ง คือ การกำกับดูแลสินค้าเกษตร อีกด้านเป็นเรื่องของการปกป้อง และด้านสุดท้ายที่กำลังจะพูดถึงในวันนี้ คือ งานบริการ โดยเป็นงานที่จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการ เป็นงานเบื้องหลัง แต่มีความสำคัญต่อประเทศ และสำคัญต่อผู้ประกอบการ และยังถือเป็นงานที่เข้ากับยุคกับสมัย สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งสู่รัฐบาลดิจิทัล และเข้ากับยุคโควิด-19 ที่ต้องเว้นระยะห่าง งานบริการดิจิทัลจึงเป็นคำตอบ และเป็นงานที่กรมฯ ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันงานบริการของกรมฯ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ การออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า แบบที่นำไปใช้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีหรือยกเว้นภาษีศุลกากร กับประเทศที่ไทยมี FTA ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 13 ฉบับ แต่ต้องออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแค่ 12 ความตกลง เพราะ FTA ไทย-นิวซีแลนด์ไม่ต้องใช้ ผู้ประกอบการสามารถรับรองตนเองได้ และแบบทั่วไป ที่ไม่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีหรือยกเว้นภาษีได้ แต่ใช้แสดงว่าสินค้ามีถิ่นกำเนิดในไทย ส่วนอีกประเภทที่ให้บริการ คือ การออกใบอนุญาตการส่งออกนำเข้าสินค้า ที่ผู้ประกอบการต้องนำไปแสดงต่อศุลกากรไทย กรณีการส่งออกนำเข้า เช่น ใบอนุญาตส่งออกข้าว นำเข้ายา เภสัช เคมีภัณฑ์ เป็นต้น และหนังสือรับรองการส่งออกนำเข้าตามพันธกรณี WTO หรือ FTA เช่น การนำเข้าส่งออกสินค้าหอมหัวใหญ่ กระเทียมภายใต้ WTO หรือสินค้ากล้วย เนื้อสุกร ภายใต้ความตกลง FTA ไทย-ญี่ปุ่น เป็นต้น
ออกหนังสือสำคัญปีละกว่าล้านฉบับ
ในปีหนึ่งๆ กรมฯ มีการออกหนังสือสำคัญการส่งออกนำเข้าสินค้ากว่าล้านฉบับ โดยปี 2563 ที่ผ่านมา ออกไปจำนวน 1.12 ล้านฉบับ ลดลง 10% คิดเป็นมูลค่า 80,701.71 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8.88% เพราะเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศชะลอตัว ก็เลยกระทบไปด้วย แต่การให้บริการของกรมฯ ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะได้มีการพัฒนางานให้บริการเข้าสู่ยุคดิจิทัลรองรับมาก่อนหน้านี้แล้ว
ในการออกหนังสือสำคัญนี้ แยกเป็นออกใบอนุญาตหรือไลเซนส์ เช่น ส่งออกข้าว มันสำปะหลัง ประมาณ 1 แสนฉบับ ออกให้แก่ผู้ประกอบการนำไปยื่นต่อกรมศุลกากร อีกส่วนเป็นการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ทั้งแบบลดภาษีได้ และแบบรับรองว่ามีถิ่นกำเนิดในไทย รวมแล้วมีประมาณ 1 ล้านกว่าฉบับ
ทิศทางการพัฒนางานให้บริการ
สำหรับการพัฒนาการให้บริการ ในอดีตกรมฯ ใช้วิธีออกหนังสือสำคัญด้วยระบบ Manual เจ้าหน้าที่รับเอกสาร ผู้ประกอบการเดินทางมายื่นเอกสารที่กรมฯ รอผลการพิจารณา และเมื่อพิจารณาเสร็จแล้วก็ต้องรอเจ้าหน้าที่เซ็นสด มีทั้งหมด 5 ขั้นตอน ใช้เวลา 3 วัน ต่อมาได้พัฒนานำระบบ EDI มาใช้ เริ่มเมื่อปี 2546-47 พัฒนามาเรื่อยจนใช้เต็มรูปแบบในปี 2554 เป็นระบบยื่นคำขอทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ทุกอย่างเหมือนเดิม ต้องเอาเอกสารมาที่กรมฯ รอเจ้าหน้าที่พิจารณาและเซ็นสด ตอนนี้เหลือ 4 ขั้นตอน เวลาลดลงมาเหลือ 30 นาที/ฉบับ
ต่อมากรมฯ ยังไม่หยุดพัฒนา เพราะแนวโน้มการใช้เทคโนโลยี ใช้ไอที กำลังมา กรมฯ ก็พัฒนาไปเป็นรูปแบบ Digital Signature หรือระบบ DS ดีกว่าระบบ EDI เพราะสามารถยื่นคำขอผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ แนบเอกสารมาเลย เจ้าหน้าที่ดึงคำขอมาตรวจ เมื่อตรวจแล้ว อนุมัติ อนุญาต และเซ็นแบบสด โดยเหลือ 3 ขั้นตอน เวลาลดมาเหลือ 15 นาที/ฉบับ จากนั้นพัฒนาไปอีกสเต็ป นำระบบ Electronic Signature and Seal (ESS) มาใช้ ให้ยื่นคำขอและแนบเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ และให้ผู้ประกอบการลงนามอิเล็กทรอนิกส์ เจ้าหน้าที่ก็ลงนามแบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ลดเหลือ 2 ขั้นตอน ใช้เวลาเหลือ 10 นาที/ฉบับ จะเห็นว่าพัฒนาจนเป็นระบบที่สุดยอด และรวดเร็วมาก
“ถึงจุดนี้ ผู้ประกอบการที่จะมาใช้บริการขอหนังสือสำคัญ ทั้งการส่งออกนำเข้า หรือการใช้สิทธิ์ภายใต้ FTA สามารถที่จะมาเรียนรู้ระบบกับกรมฯ ได้ เรามีอบรมให้ สอนตั้งแต่วิธีการใช้ การส่งเอกสาร รูปแบบตราประทับของบริษัท ลายเซ็นผู้มีอำนาจต้องแบบไหน การเซ็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ต้องทำอย่างไร มีสอนหมด”
เชื่อมโยงข้อมูลส่งตรงถึงกรมศุลกากร
นายกีรติกล่าวว่า หลังจากดำเนินการพัฒนามาจนได้ระบบที่ดีแล้ว ได้มีการเดินหน้าต่อด้วยการผลักดันให้เกิดการไม่ใช้กระดาษ หรือ Paperless โดยหลังจากมีการยื่นขอหนังสือสำคัญเข้ามาแล้ว กรมฯ ได้ทำการเชื่อมโยงข้อมูลต่อไปยังกรมศุลกากร ผ่านระบบ National Single Window - NSW จะทำให้ข้อมูลหนังสืออนุญาตส่งออกนำเข้าเชื่อมไปยังกรมศุลกากรเลย ไม่ต้องมารับเอกสารที่กรมฯ อีก เอกสารไปโชว์ที่กรมศุลกากรเลย เวลาส่งออกนำเข้าก็สะดวกขึ้น หรือหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ที่ผู้ประกอบการใช้ลดภาษี อย่างในอาเซียนมี Form D ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลกันครบทุกประเทศแล้ว ถ้าผู้ประกอบการมายื่นขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าผ่านระบบ ESS หนังสือก็จะวิ่งจากกรมฯ ไปยังกรมศุลกากรผ่านระบบ NSW แล้ววิ่งต่อไปยังอาเซียนประเทศต่างๆ ผ่าน ASEAN Single Window - ASW ซึ่งตอนนี้มีอาเซียนเท่านั้นที่มีการเชื่อมโยง โดยตามที่ตกลงกันไม่ต้องเรียกดูเอกสารอีก
ปัจจุบันมี FTA ที่มีผลบังคับใช้แล้ว 13 กรอบ กับ 18 ประเทศ รายละเอียดกฎถิ่นกำเนิดสินค้ามีความแตกต่างกัน ระเบียบปฏิบัติก็แตกต่างกัน ซึ่งกรมฯ กำลังหารือและเจรจากับประเทศคู่เจรจาที่จะผลักดันให้มีการเชื่อมโยงระบบระหว่างกันต่อไป
ตั้งเป้าผลักดันใช้ระบบ ESS ทุกกรอบ
ปัจจุบันผู้ประกอบการสามารถขอหนังสือรับรองด้วยระบบ ESS ได้แล้วจำนวน 8 ฟอร์ม ได้แก่ ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลี อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ อาเซียน-ญี่ปุ่น เฉพาะการส่งออกไปออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อาเซียน-ฮ่องกง อาเซียน และฟอร์ม C/O ทั่วไป และมีแผนที่จะผลักดันการออกแบบฟอร์มประเภทอื่นๆ เพิ่มเติม ได้แก่ ไทย-ชิลี อาเซียน-จีน ภายในกลางปี 2564 และฟอร์มไทย-เปรู ภายในเดือน ส.ค. 2564
เตรียมการรองรับใช้ประโยชน์ RCEP
นอกจากนี้ กรมฯ กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ โดยได้เตรียมระบบรองรับ อย่างเร็ว การขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าน่าจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างภายในเดือน ต.ค. 2564 นี้ ผู้ประกอบการที่อยากจะใช้ประโยชน์จาก RCEP ก็สามารถที่จะใช้ระบบ ESS ได้เลย
อนาคตจะเกิดการพัฒนาอะไรอีก
นายกีรติกล่าวว่า แผนการพัฒนางานบริการเพิ่มเติม กรมฯ มีแผนผลักดันระบบ DFT Smart-I ซึ่งเป็นระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภายในของกรมฯ เอง จากเดิมที่ผู้ประกอบการจะต้องมาติดต่อขอรับบริการแต่ละสำนัก แต่ละกอง อย่างข้าว ต้องไปกองข้าว ไปกองมาตรฐาน ไปกองบริการ ต่อไป ยื่นเอกสารในระบบอิเล็กทรอนิกส์ครั้งเดียว ณ จุดเดียว ก็จบ ซึ่งจะช่วยให้งานบริการเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีมาตรฐาน ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการได้ประมาณเดือน มิ.ย. 2564
อีกระบบที่จะพัฒนา ถือเป็นความต่อเนื่องจากระบบ Paperless โดยเป็นการพัฒนาต่อเนื่องการให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ที่ผู้ประกอบการสามารถสั่งพิมพ์หนังสือรับรองฯ ที่ผ่านการพิจารณาอนุมัติได้ด้วยตนเอง จะพิมพ์ที่บ้าน พิมพ์ที่สำนักงานก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมารับที่กรมฯ หรือหน่วยงานให้บริการของกรมฯ เรียกว่า ต่อไปจะไม่มีการพบปะเจ้าหน้าที่ตัวเป็นๆ เลย โดยคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566
ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับ
นายกีรติกล่าวว่า การให้บริการด้วยนวัตกรรมดิจิทัลจะช่วยลดขั้นตอน ลดการเรียกเอกสารแนบโดยเปลี่ยนเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ลดการใช้ทรัพยากร ลดระยะเวลา ลดต้นทุน ลดการเดินทางมาติดต่อกับกรมฯ ลดการถูกตรวจสอบย้อนหลังจากศุลกากรปลายทาง และลดการเข้าใช้งานระบบหลายแห่งโดยปรับเป็นการให้บริการ ณ จุดเดียว รวมทั้งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้า เพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ กรมฯ ได้สำรวจเบื้องต้นพบว่าผู้ประกอบการมีต้นทุนทั้งในส่วนของค่าเดินทาง ค่าแรง และค่าเสียเวลาในการเดินทางมารับหนังสือสำคัญจากกรมฯ เฉลี่ยประมาณ 480 บาทต่อ 1 ฉบับ ซึ่งในแต่ละปีกรมฯ ให้บริการออกหนังสือสำคัญฯ ประมาณ 1.12 ล้านฉบับ ดังนั้น หากประเมินเบื้องต้นจะพบว่าการให้บริการด้วยดิจิทัลจะช่วยประหยัดต้นทุนของผู้ประกอบการได้อย่างน้อย 540 ล้านบาทต่อปี
เป้าหมายที่อยากจะเห็น
นายกีรติกล่าวว่า เป้าหมายของกรมฯ คือ ภายในปี 2564 จะสามารถให้บริการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองส่งออกนำเข้าสินค้าแบบ Paperless ได้ครบทั้ง 100% และมีแผนจะขยายการให้บริการแบบ Paperless ให้ครอบคลุมถึงการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาระบบ โดยตั้งเป้าหมายที่จะอยากเห็นก็คือ ในปี 2566 ผู้ประกอบการไม่ต้องมาติดต่อหรือมายื่นเอกสารที่กรมฯ อีกเลย จะทำก็ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น
“งานที่กรมฯ กำลังดำเนินการและผลักดันอยู่ในขณะนี้ จริงๆ เป็นงานเบื้องหลัง เป็นงานที่ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า แต่กลับเป็นงานที่สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศได้มหาศาล เพราะเกี่ยวข้องกับการส่งออก นำเข้า การค้าขาย การค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้เข้าประเทศ” นายกีรติกล่าวสรุป