xs
xsm
sm
md
lg

กรมพัฒน์ฯ ดันใช้ “แฟรนไชส์” ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนตกงาน คนอยากมีธุรกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจับมือสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์เดินหน้าช่วยเหลือคนตกงาน ผู้ที่กำลังมองหาอาชีพ ใช้แฟรนไชส์ลงทุนทำธุรกิจ เหตุมีให้เลือกหลากหลาย มีพี่เลี้ยงคอยดูแลและให้คำปรึกษา พร้อมเร่งทำบิ๊กดาต้าธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งระบบ ให้ภาครัฐใช้กำหนดนโยบายส่งเสริม ให้นักลงทุนใช้เป็นข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมมือกับสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ใช้รูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์ช่วย “สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้” โดยได้ร่วมกันนำธุรกิจแฟรนไชส์หลากหลายรูปแบบ ขนาด และเงินลงทุน ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ถูกเลิกจ้าง หรือตกงาน หรือผู้ที่ต้องการจะมีธุรกิจเป็นของตนเอง สามารถเลือกลงทุนนำไปประกอบเป็นอาชีพเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตัวเอง และมั่นใจว่าธุรกิจจะไปรอด เพราะธุรกิจแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่ใช้ระบบพี่เลี้ยงเข้ามาช่วยบริหารจัดการ จะช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากจะมีแฟรนไชซอร์ (เจ้าของแฟรนไชส์) คอยเป็นพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการธุรกิจตลอดระยะเวลาการประกอบธุรกิจ ทำให้โอกาสที่จะประสบความสำเร็จมีมากขึ้น

กรมฯ และสมาคมฯ จะประสานไปยังภาคธุรกิจที่มีแผนลดอัตรากำลังคน ลดจำนวนพนักงาน เพื่อนำธุรกิจแฟรนไชส์เข้าไปเสนอให้ผู้ที่เข้าเกณฑ์การเลิกจ้างหรือผู้ที่กำลังมองหาธุรกิจ ได้เลือกลงทุนประกอบธุรกิจ ทั้งเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม โดยจะมีการให้ความรู้และให้คำปรึกษาถึงรายละเอียดของแต่ละประเภทธุรกิจก่อนการตัดสินใจลงทุน เพื่อให้เหมาะกับบุคลิก ความชอบ และความถนัดของแต่ละบุคคล ซึ่งจะเป็นแรงส่งให้ผู้ลงทุนมีพลังในการประกอบธุรกิจและผลักดันให้ประสบผลสำเร็จ และยังจะร่วมกันจัดทำแผนการลงพื้นที่ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อนำธุรกิจแฟรนไชส์ไปเปิดโลกการประกอบธุรกิจแก่กลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่องด้วย

ทั้งนี้ กรมฯ และสมาคมฯ ยังเห็นพ้องในการจัดเก็บข้อมูล (บิ๊กดาต้า) ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ไทยทั้งระบบ เพราะยังไม่เคยมีหน่วยงานใดดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นข้อมูลปฐมภูมิในการจำแนกประเภทและขนาดของธุรกิจ และใช้เป็นข้อมูลในการส่งเสริม พัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์แต่ละธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน เนื่องจากแฟรนไชส์แต่ละประเภทต้องการความช่วยเหลือและการพัฒนาที่แตกต่างกัน การมีข้อมูลธุรกิจแฟรนไชส์ของประเทศขนาดใหญ่และมีความสมบูรณ์จะช่วยให้ภาครัฐสามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ได้อย่างตรงจุดมากที่สุด รวมทั้งยังสามารถใช้เป็นข้อมูลเชิงลึกสำหรับนักธุรกิจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในการนำไปวิเคราะห์ก่อนการตัดสินใจเลือกลงทุนอีกด้วย

ปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 2.5 แสนล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 1.7% ของจีดีพีทั้งประเทศ โดยข้อมูล ณ วันที่ 25 ก.พ. 2564 ธุรกิจแฟรนไชส์ของประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 575 กิจการ แบ่งตามประเภทได้ดังนี้ 1. อาหาร 181 กิจการ คิดเป็น 31.48% 2. เครื่องดื่ม 136 กิจการ คิดเป็น 23.65% 3. การศึกษา 101 กิจการ คิดเป็น 17.57% 4. ค้าปลีก 88 กิจการ คิดเป็น 15.29% 5. บริการ 44 กิจการ คิดเป็น 7.66% และ 6. สปาและความงาม 25 กิจการ คิดเป็น 4.35%


กำลังโหลดความคิดเห็น