กรมขนส่งทางราง ร่วมมือทางวิชาการกับ JICA พัฒนาแผนแม่บทระบบราง (M-Map 2) เพิ่มเส้นทางเติมโครงข่ายให้มีประสิทธิภาพเชื่อมโยงครอบคลุมพื้นที่ แก้จราจรอย่างมีประสิทธิภาพ
วันที่ 1 มี.ค. 2564 นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) พร้อมด้วยนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ให้การต้อนรับ Mr. Takahiro MORITA, Chief Representative และเจ้าหน้าที่จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) โดยได้ร่วมกันหารือเกี่ยวกับโครงการ “Formulation of the Second Mass Rapid Transit Master Plan in Bangkok Metropolitan Region (M-MAP2) Project” ของ JICA ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 ของ ขร.
โดย ขร. และ JICA ได้มีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ Record of Discussion (R/D) ภายใต้การดำเนินโครงการ “Formulation of the Second Mass Rapid Transit Master Plan in Bangkok Metropolitan Region (M-MAP2) Project” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในภาพรวมของกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด ลดความซ้ำซ้อน เกิดการบูรณาการร่วมกันระหว่างโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตการเดินทางของประชาชนให้มีความรวดเร็ว สะดวก ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ JICA ได้มีการนำเสนอแผนการดำเนินการโครงการ M-MAP2 ของ JICA (ฝ่ายญี่ปุ่น) รวมถึงการหารือเพื่อเตรียมการศึกษาเรื่อง “Data Collection Survey on Railway Electrification (SRT)” ที่ JICA จะดำเนินการร่วมกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่ง ขร.พร้อมให้การสนับสนุนข้อมูลเพิ่มเติมในการศึกษาในเรื่องของรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ รวมถึงให้คำแนะนำ วิธีแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย
สำหรับโครงการการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 นี้ เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าที่มีความครอบคลุมพื้นที่ที่มีความต้องการเดินทางสูงแต่โครงข่ายยังเข้าไม่ถึง เพื่อบรรเทาการจราจรติดขัดในพื้นที่ศูนย์กลางเมืองกรุงเทพมหานคร รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในภาพรวมของกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด ลดความซ้ำซ้อน เพื่อลดการลงทุนและงบประมาณในโครงข่ายที่ไม่มีความจำเป็นในสภาวการณ์ปัจจุบัน และพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาและแนวคิดการวางผังเมืองในอนาคตซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตการเดินทางของประชาชนให้มีความสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น