กรมรางประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จัดทำมาตรฐานระบบไฟฟ้าและระบบอาณัติสัญญาณ ระยะที่ 1 โครงข่ายรถไฟสายประธานของประเทศ รองรับการพัฒนารถไฟทางคู่ ทางสายใหม่ และ รถไฟความเร็วสูง ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูงสุด
วันที่ 19 ก.พ. กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้จัดประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับมาตรฐานระบบไฟฟ้าและระบบอาณัติสัญญาณ ระยะที่ 1 (โครงข่ายรถไฟสายประธานของประเทศไทย) ครั้งที่ 2 โดยมีผู้แทนหน่วยงานด้านการขนส่งทางราง หน่วยงานด้านระบบไฟฟ้า ภาคเอกชน เข้าร่วม
นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า กรมราง ได้ดำเนินการศึกษา เพื่อจัดทำมาตรฐานระบบไฟฟ้าและระบบอาณัติสัญญาณของการเดินรถขนส่งทางราง บนโครงข่ายรถไฟสายประธานของประเทศไทย รวมถึงมาตรการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากปัจจุบันระบบการขนส่งทางรางในประเทศไทยได้พัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งรถไฟทางคู่ ทางสายใหม่ และ รถไฟความเร็วสูง ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีระบบไฟฟ้าและอาณัติสัญญาณควบคู่ไปด้วย
โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตหลายรายที่ต้องการลงทุนด้านงานระบบราง ซึ่งการนำการนำเทคโนโลยีจากผู้ผลิตที่แตกต่างกันมาใช้บนโครงข่ายร่วมกัน จำเป็นต้องมีมาตรฐาน กฎระเบียบ และข้อตกลงร่วมกัน เพื่อให้การดำเนินงานระบบการขนส่งทางรางเกิดความปลอดภัย
มีประสิทธิภาพและสามารถเข้ากันได้ตลอดโคร่งข่ายภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต
สำหรับการจัดทำร่างมาตรฐานดังกล่าว แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนได้แก่ มาตรฐานระบบไฟฟ้าและมาตรฐานระบบอาณัติสัญญาณ ในส่วนของมาตรฐานระบบไฟฟ้า ประกอบด้วยทั้งหมด 6 ด้าน ได้แก่ 1) มาตรฐานระบบการจ่ายไฟฟ้า 2) มาตรฐานการป้องกันและฉนวน 3) มาตรฐานการต่อลงดินและการต่อฝาก 4) มาตรฐานรูปแบบการต่อหม้อแปลง 5) มาตรฐานระบบเฝ้าระวังและการควบคุมระยะไกล 6) มาตรฐานคุณภาพไฟฟ้า
มาตรฐานระบบอาณัติสัญญาณ ประกอบด้วยทั้งหมด 9 ด้าน ได้แก่ 1) มาตรฐานการให้สัญญาณบนทางประธาน 2) มาตรฐานระบบบังคับสัมพันธ์ 3) มาตรฐานการให้สัญญาณบนทางประธาน 4) มาตรฐานประแจกล 5) มาตรฐานเครื่องนับเพลา 6) มาตรฐานวงจรไฟตอน 7) มาตรฐานเครื่องกั้นถนนเสมอระดับทางรถไฟ มาตรฐานระบบห้ามล้ออัตโนมัติ 9) มาตรฐานคลื่นความถี่
นายกิตติพันธ์กล่าวว่า การประชุมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีที่นักวิจัย นักวิชาการ จากภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง จะได้ทราบถึงมาตรฐานที่ กรมราง ได้จัดทำขึ้น เพื่อเป็นการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสนับสนุนให้หน่วยงานที่กำกับดูแลและควบคุมการขนส่งทางรางสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย และต่อยอดให้เกิดการพัฒนาการขนส่งทางราง ในรูปแบบการทางานร่วมกันได้ในโครงข่าย หรือ Interoperability รวมถึง ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ที่จะเป็นประโยชน์ในการจัดทำแนวทาง การจัดทำมาตรฐานระบบไฟฟ้าและระบบอาณัติสัญญาณ ระยะที่ 1 (โครงข่ายรถไฟสายประธานของประเทศไทย) ให้มีประสิทธิภาพเทียบทันระดับสากลต่อไป