xs
xsm
sm
md
lg

“เจดีเซ็นทรัล-ลาซาด้า” อัปโซลูชัน-ปูพรมแผนตลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - ตลาดอี-คอมเมิร์ซมูลค่ากว่า 4 ล้านล้านบาทคึกคักไม่หยุด ชี้ยังเติบโตต่อเนื่อง รองรับชีวิตวิถีใหม่จากโควิดเป็นแรงผลักดันอย่างดี ผู้ประกอบการมาร์เกตเพลสรายใหญ่เร่งปรับตัว พัฒนาโซลูชัน อัดกลยุทธ์ชิงตลาด

ผลพวงของการแพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว (2563) ส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อเศรษฐกิจทั้งระบบในภาพรวม และยังส่งผลต่อเนื่องถึงปีนี้และคาดว่ายังต่อเนื่องระยะยาวด้วยซ้ำไป

ขณะที่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซหรือการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์กลับมีความคึกคักอย่างมาก ตอบรับมาตรการที่เข้มงวดต่อการป้องกันโควิด-19 ที่ต้องรักษาระยะห่างในการอยู่ร่วมกัน หรือความกลัวจึงไม่ค่อยกล้าออกจากบ้านมาจับจ่ายในช่องทางร้านค้าหรือออฟไลน์ จึงผลักดันให้ชอปปิ้งออนไลน์ทุกรูปแบบเติบโตอย่างมาก 


นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กล่าวว่า ภาพรวมของตลาด e-commerce ปัจจุบันยังมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มูลค่ามากกว่า 4 ล้านล้านบาทใน พ.ศ. 2562 เติบโตกว่า 6.9% จาก พ.ศ. 2561 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดใน พ.ศ. 2563 จากการแพร่ระบาดของโควิดเป็นปัจจัยหลักทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค และการดำเนินชีวิตสู่ความปกติใหม่ หรือ New Normal เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด ผ่านการทำกิจกรรมทางธุรกิจและการค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น

ในประเทศไทย กิจกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่กว่า 40% ดำเนินการบนโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Line, Instagram หรือ Social Commerce ขณะที่ 35% ใช้บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม (E-Marketing Place) ในการดำเนินธุรกิจ และ 25% เกิดขึ้นบนเว็บไซต์ของแบรนด์สินค้า


นายวินเซนต์ หยาง ประธานกรรมการบริหารเจดีเซ็นทรัล เปิดเผยว่า ยอดขายปี 2563 ของเจดีเซ็นทรัล เติบโตมากถึง 169% ทั้งนี้เจดีเซ็นทรัลเริ่มกิจการไทยเมื่อปี2561 ที่ผ่านมามีฐานลูกค้าแล้วมากกว่า 5 ล้านราย มีพันธมิตรทางการค้าบนแพลตฟอร์มมากกว่า 15,000 แบรนด์ ซึ่งปี 2563 อัตราการใช้บริการของลูกค้าต่อเนื่องถึง 40%

* “เจดีเซ็นทรัล” เร่งเครื่อง
นางสาวปุณณภา ลิมป์ธารสกุล ผู้บริหารหน่วยธุรกิจ FMCG & HOME SOLUTIONS เจดีเซ็นทรัล กล่าวว่า ธุรกิจชอปปิ้งออนไลน์จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วงปี 2563 ทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนจากการชอปออฟไลน์มาเป็นชอปออนไลน์มากขึ้น ความสะดวกสบายที่ได้รับทำให้ลูกค้าออฟไลน์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาเป็นลูกค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น และเมื่อมีการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในช่วงปลายปี 2563 ทำให้พฤติกรรมของคนหันกลับไปใช้บริการชอปออนไลน์เหมือนเดิมอีก 


“ผู้ประกอบการควรปรับตัวในเรื่องของการคัดเลือกสินค้ามาจำหน่าย จากเดิมนักชอปออนไลน์มักจะจับจ่ายสินค้าที่ไม่ต้องการเห็นหรือจับต้องสินค้าตัวจริง แต่เมื่อพฤติกรรมการชอปเริ่มเปลี่ยนไปไม่ว่าจะด้วยปัจจัยใดก็ตาม ควรทำให้พฤติกรรมการชอปสามารถชอปสินค้าได้อย่างหลากหลาย ไม่ใช่จำเพาะแต่สินค้าของใช้ในครัวเรือนเท่านั้น การเลือกสินค้าที่ดูน่าสนใจโดยไม่จำเป็นต้องจับต้องสินค้าจริง ก็จะมีส่วนทำให้การชอปออนไลน์มีหลากหลายและน่าสนใจมากขึ้น”นางสาวปุณณภากล่าว

ในส่วนแพลตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์ที่มีผู้เล่นในตลาดเมืองไทย 3-4 ราย ก็จะมีการแข่งขันกันมากขึ้น เพราะเมื่อพฤติกรรมคนเปลี่ยน ทุกแพลตฟอร์มก็อยากจะได้เป็นลูกค้าของตนเอง ผู้บริโภคเองก็ฉลาดเลือก รู้จักเลือกว่าชอปสินค้าประเภทไหนต้องไปแพลตฟอร์มไหน

นอกจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซด้วยกันเองแล้ว เมื่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลับมาอีกครั้ง บรรดาห้าง ซูเปอร์มาร์เกต หรือคอนวีเนียนสโตร์อื่นๆ ก็ต้องปรับตัวเพื่อให้มีรายได้ ด้วยการจัดทำแพลทฟอร์มออนไลน์เข้ามา เพื่อให้บริการลูกค้าให้ได้อย่างทั่วถึง ทำให้กลายเป็นคู่แข่งอีกทางหนี่งของอีคอมเมิร์ซที่มีอยู่ ถึงแม้ว่าสินค้าที่วางจำหน่ายจะเป็นคนละประเภท แต่ก็จะมีสินค้าบางกลุ่มที่จำหน่ายเหมือนกันเช่น สินค้าอุปโภคในชีวิตประจำวัน และเมื่อมีการจับลูกค้ามาได้ ไม่ว่าจะลูกค้าเก่าหรือลูกค้าใหม่ ทุกคนก็จะต้องคิดถึงการให้บริการอย่างครบวงจร และพยายามที่จะขยายไลน์สินค้าให้ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้าทุกรูปแบบทุกไลฟ์สไตล์


เมื่อสินค้าที่จำหน่ายในแต่ละแพลตฟอร์มเหมือนกัน สิ่งที่จะเป็นตัวตัดสินว่าจะเลือกซื้อกับผู้ประกอบการรายไหน คือโปรโมชัน และบริการ ที่ครอบคลุมถึงการจัดส่ง ระยะเวลาการจัดส่ง ความถูกต้องของสินค้าที่จัดส่ง และความน่าเชื่อถือในการใช้บริการ ในส่วนของเจดีเซ็นทรัล เรารับประกันสินค้าแบรนด์แท้ 100% หากพบสินค้าปลอมรับเงินชดเชย 3 เท่า นอกจากนี้ ขั้นตอนการจัดส่งก็เชื่อถือได้ทั้งความรวดเร็ว ถูกต้อง จากการมีคลังสินค้ากระจายครอบคลุมไปในหลายพื้นที่ ทำให้ขั้นตอนการบริหารจัดการสินค้านับตั้งแต่ได้รับออเดอร์ จะทำได้ด้วยความรวดเร็ว ทั้งนี้สถิติการจัดส่งที่รวดเร็วที่เจดีเซ็นทรัลเคยทำได้ คือการจัดส่งสินค้าภายใน 55 นาทีหลังจากได้รับออเดอร์ 

ขณะที่แผนการรุกหลักๆ ในปี 2564 นี้ นายก่อลาภ สุวัชรังกูร ประธานบริหารฝ่ายการตลาด เจดีเซ็นทรัล กล่าวว่า จะพัฒนาระบบอีโคซิสเต็มและโซลูชันต่างๆ ทั้ง 4 ด้านหลัก คือ 1. JOY TECHNOLOGY เน้นการพัฒนาเทคโนโลยี โดยปีนี้จะเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ อาทิ One-click Solution ที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ขายเพียงการคลิกครั้งเดีย 

2. JOY RETAIL SOLUTION พัฒนาโซลูชันต่างๆ เพื่อสนับสนุนผู้ขาย ไม่ว่าจะเป็น Service Analysis ระบบช่วยวิเคราะห์ข้อมูลการให้บริการ Competitor Analysis วิเคราะห์คู่แข่ง เป็นต้น

3. JOY MARKETING ปีนี้จะเพิ่มในส่วนของระบบ CRM ที่เพิ่มสิทธิประโยชน์ของ E-Voucher และมีพาร์ตเนอร์ใหม่ๆ ที่เข้าร่วมมากยิ่งขึ้น, พัฒนา Online Marketing Ad Solutions ให้กับผู้ขายให้สามารถใช้งานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น 4. JOY FULFILLMENT ปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มอัตราการให้บริการส่งของให้ถึงมือลูกค้าภายในวันถัดไป สูงขึ้น 100%


“ลาซาด้า” รุกหนักทั้งแผนตลาดและโซลูชัน
นางสาวภารดี สินธวณรงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจปี 2564 นับเป็นปีที่ 2 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หลังจากที่เศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัวจากการระบาดรอบแรก แต่เมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วจนถึงขณะนี้ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จึงยังอยู่บนความผันผวน ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อธุรกิจในแทบทุกภาคส่วน 

รวมถึงกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค คงต้องรอจนกว่าจะมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้แก่คนไทย ทุกฝ่ายจึงจะเริ่มมั่นใจว่าสามารถควบคุมสถานการณ์โรคระบาดได้ รวมถึงมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างแท้จริง

ในปี 2564 ลาซาด้ายังคงเชื่อมั่นว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลสนับสนุนหลายปัจจัย ทั้งจากพฤติกรรม ‘New Normal’ ที่นักชอปคำนึงถึงความปลอดภัยและความสะดวกสบายเป็นที่ตั้ง การที่ผู้บริโภคหน้าใหม่เริ่มคุ้นเคยและไว้วางใจประสบการณ์ช้อปออนไลน์ รวมถึงการที่แบรนด์และผู้ขายออฟไลน์ต่างหันมาผลักดันสินค้าผ่านทางช่องทางอีคอมเมิร์ซมากขึ้นเรื่อยๆ 


นางสาวภารดีกล่าวว่า เมื่อวิเคราะห์ถึงสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคในปัจจุบัน เราพบว่านักชอปใช้เวลาในการตัดสินใจเลือกสินค้านานขึ้น ยอดใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคำสั่งซื้อลดลง แต่ความถี่ในการเข้าแพลตฟอร์มและจำนวนคำสั่งซื้อเพิ่มสูงขึ้น โดยนักชอปมองหาสินค้าที่คุ้มค่าและประหยัด นั่นหมายความว่าผู้ประกอบการก็ต้องพร้อมปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคและสถานการณ์เหล่านี้ การเข้าร่วมแคมเปญการตลาดของลาซาด้า รวมถึงใช้เครื่องมือต่างๆ บนแพลตฟอร์ม เช่น Sponsor Solutions จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการขายได้สูงสุด 

ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยยังคงมีสัดส่วนเพียง 3-5% ของธุรกิจค้าปลีก โอกาสของการเติบโตจึงยังมีอีกมหาศาล ไม่ใช่เฉพาะแต่ลาซาด้า แต่ยังหมายถึงโอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยตลอดทั้ง ecosystem ซึ่งสอดคล้องกับแผนธุรกิจระยะยาวของลาซาด้า ที่มุ่งเน้นพัฒนาด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานมาตั้งแต่ต้น ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถส่งมอบประสบการณ์อีคอมเมิร์ซที่เหนือระดับให้กับทั้งนักช้อป ผู้ขาย และพันธมิตรธุรกิจ และจะเป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับเรา 

ท่ามกลางการระบาดของโควิดที่ยังมีอยู่ เราก็มีการปรับกลยุทธ์ตลอดเวลา เพื่อนำเสนอบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและผู้ค้าให้มากที่สุด เช่น แพกเกจพิเศษสำหรับผู้ขายใหม่ ที่มีทั้งฟรีค่าธรรมเนียมการชำระเงินนาน 90 วัน สิทธิ์ส่วนลดค่าขนส่ง 30 บาทสำหรับลูกค้า เป็นต้น ในปีนี้ ทางลาซาด้าจะเปิดศูนย์บริการจัดการคลังสินค้าแห่งใหม่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาค ซึ่งจะมีการต่อยอดนำเอาเทคโนโลยีจากอาลีบาบามาใช้เพื่อยกระดับโลจิสติกส์ไทยและรองรับการเติบโตในอนาคต


ในปี 2563 ที่ผ่านมา ลาซาด้าช่วยคนไทยประหยัดเงินไปถึง 4.5 พันล้านบาท ผ่านคูปองส่วนลดและโปรโมชันต่างๆ นอกจากนี้ ลาซาด้ายังได้สนับสนุนและช่วยสร้างรายได้ให้แก่ SMEs ไทยกว่า 300,000 ราย ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และในแคมเปญ “Lazada 12.12 แกรนด์เซลส่งท้ายปี” ลดจุกๆ แจกสุขส่งท้ายปี ที่เพิ่งผ่านพ้นไป มีจำนวนแบรนด์และผู้ขายเพิ่มสูงขึ้นกว่าสองเท่าจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงแบรนด์บน LazMall กว่า 7,000 แบรนด์ นอกจากนี้จำนวนนักชอปยังเพิ่มขึ้น 10 เท่าจากวันปกติ กระหน่ำชอปสินค้าไปถึง 14 ล้านชิ้น 

สำหรับสถิติที่น่าสนใจจาก “Lazada 12.12 แกรนด์เซลส่งท้ายปี” ในประเทศไทย ได้แก่

1. มีสั่งซื้อมากกว่า 25,000 ออเดอร์ ต่อนาที ใน 2 ชั่วโมงแรกของแคมเปญ
2. ยอดขายสมาร์ทโฟนทะลุ 22,000 เครื่องภายใน 2 ชั่วโมงแรก ซึ่งเมื่อนำมาเรียงต่อกันจะมีความสูงมากกว่าตึกมหานคร ตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทย ถึง 7 เท่า
3. ยอดชอปเฉลี่ยในชั่วโมงแรกกว่า 3,000 บาทต่อคน

ล่าสุดลาซาด้าจัดแคมเปญ 3.3 Big Bonus Brands Sale พร้อมเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่อย่างลาซาด้าโบนัส ที่จะช่วยยกระดับสิทธิประโยชน์บนแพลตฟอร์มให้แก่ผู้บริโภคเพิ่มมากยิ่งขึ้น กับส่วนลดเพิ่มเติมรวม 6 ต่อ มอบข้อเสนอสุดเอ็กซ์คลูซีฟจากแบรนด์ดังพันธมิตร พร้อมคลายความกังวลเรื่องค่าขนส่งด้วยคูปองส่งฟรีทั่วไทย ในขณะเดียวกัน การออกแคมเปญและโซลูชันใหม่ๆ ก็จะช่วยกระตุ้นยอดขายและสร้างการเติบโตให้ผู้ขายและแบรนด์พันธมิตรของเรา เพื่อก้าวผ่านความท้าทายจากผลกระทบทางเศรษฐกิจนี้ไปได้


ไฮไลต์แคมเปญ 3.3 Big Bonus Brands Sale ชอปดีลเด็ดแบรนด์ดัง ลดรัว 6 ต่อ จัดหนักที่สุดรอบแรกของปีนี้ครั้งแรกกับ Lazada Bonus โบนัสลดหลายต่อ ฟีเจอร์ใหม่จากลาซาด้า สนับสนุนส่วนลดร่วมกับผู้ขาย ส่งมอบความคุ้มค่าให้นักชอปสามารถเก็บโบนัสลดหลายต่อ ยิ่งชอปยิ่งลด พร้อมแจกลาซาด้าโบนัสมูลค่ารวม 100 ล้านบาท

อีกไฮไลต์ คือ Crazy Brand Mega Offers ลดจัดหนักที่สุดเฉพาะ 2 ชั่วโมงแรกของแคมเปญ ตั้งแต่เที่ยงคืนถึงตี 2 พบกับสินค้าราคาดีที่สุด ดีลพิเศษที่สุดจากแบรนด์ชั้นนำบน LazMall เช่น Adidas, Estée Lauder และ Xiaomi


นายวีระพงศ์ โก รองประธานอาวุโสฝ่ายอีคอมเมิร์ซ บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า แผนธุรกิจปี 2564 ได้จัดเตรียมเครื่องมือ โซลูชัน และกลยุทธ์ใหม่ๆ ไว้ เช่น ลาซาด้าโบนัส เครื่องมือส่งเสริมการขายที่สามารถใช้ระหว่างร้านค้าบนแพลตฟอร์มลาซาด้า โดยลาซาด้าจะร่วมกับร้านค้าในการออกส่วนลดสำหรับผู้ซื้อเพื่อดึงคนมาที่แพลตฟอร์ม ซึ่งจะนำไปสู่ยอดขายที่เพิ่มขึ้น จะเปิดตัวลาซาด้าโบนัสครั้งแรกในแคมเปญ 3.3 ชอปแบรนด์ดัง ลดหลายต่อซึ่งเป็นแคมเปญนำขบวนเมกะแคมเปญอื่นๆ ภายในปี 2564 นี้

นอกจากนี้ ปีนี้จะเน้นการทำโฆษณาผ่านสื่อโฆษณานอกบ้านมากขึ้น และจะทำการตลาดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่หลากหลาย เช่น Youtube, Facebook, Tiktok และ Grab เป็นต้น




กำลังโหลดความคิดเห็น