คณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกร ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดเล็กของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) สรุปต้นทุนการผลิตหมูขุนไตรมาสที่ 1/2564 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 77.49 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4/2563 ที่ 75.16 บาทต่อกิโลกรัม โดยต้นทุนเกือบ 80 บาทนี้ แทบจะแตะราคาขายหน้าฟาร์มแล้ว
สาเหตุที่ต้นทุนการเลี้่ยงขยับขึ้น น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่ามาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยที่ 1 การคุมเข้มป้องกันโรค ASF ในหมู ที่ระบาดทั่วโลก รวมถึงรอบบ้านเราในอาเซียน มีเพียงไทยเท่านั้นที่ยังรักษาประเทศให้ปลอดจาก ASF ไว้ได้ มานานกว่า 2 ปี ทำให้ไทยมีความมั่นคงทางอาหาร มีความรุ่งโรจน์ด้านการเลี้ยง แม้ต้องแลกด้วยต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และขณะนี้มีโควิด-19 เพิ่มขึ้นด้วย จึงต้องเข้มงวดกับการป้องกันโรค ดังนั้น ทั้งเรื่องแรงงาน และความปลอดภัยของบุคลากร ก็รวมเป็นต้นทุนด้วย โดยประเมินว่าต้นทุนส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ประมาณตัวละ 300 บาท
ปัจจัยที่ 2 ซึ่งเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมากจากไตรมาสที่ 4/2563 คือ ต้นทุนด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะราคากากถั่วเหลืองที่เพิ่มขึ้น จาก 14 บาทต่อกิโลกรัม วันนี้ขยับขึ้นเป็น 19 บาทต่อกิโลกรัม หรือปรับขึ้นถึง 25-26% ทำให้ต้นทุนอาหารสัตเพิ่มขึ้น แค่เฉพาะจากราคากากถั่วเหลืองที่สูงขึ้นตัวเดียวเท่านั้น ก็พบว่าต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นประมาณ 200-300 บาทต่อตัว ยังไม่นับข้าวโพดที่ราคายืนแข็ง 9.25-9.50 บาทต่อกิโลกรัม ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
วันนี้ต้นทุนการเลี้ยงดันขึ้นมาแล้ว แต่คนเลี้ยงหมูยังให้ความร่วมมือกับ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ว่าจะยังคงยืนราคาขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มไม่เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นสัญญาลูกผู้ชายที่ตกลงกันไว้มานานกว่า 1 ปีแล้ว เพื่อไม่ให้กระทบกับค่าครองชีพของผู้บริโภค เพราะหากไม่ทำเช่นนี้จะทำให้จุดยืนเรื่องราคาจากหน้าฟาร์มไม่แน่นอน เมื่อตกลงกันที่กิโลกรัมละ 80 บาท ดังนั้นราคาหมูเนื้อแดงหน้าเขียงก็ต้องขายไม่เกิน 150 บาท
แต่เมื่อต้นทุนปรับขึ้นมามาก จนเกือบเท่าราคาขายแล้ว หลังจากนี้ก็จำเป็นต้องมีการพูดคุยกัน โดยเฉพาะถ้ากากถั่วไม่หยุดปรับขึ้นเช่นนี้ ราคาต้นทุนจะแซงราคาที่ตกลงไว้ ซึ่งกลายเป็นปัญหาและเป็นความทุกข์ของเกษตรกรอย่างไม่ต้องสงสัย
ส่วนประเด็นที่บางคนเข้าใจผิดว่า เป็นเพราะราคาส่งออกค่อนข้างดี ทำให้ผู้ประกอบการหันไปส่งออกนั้น ขอทำความเข้าใจว่า ในปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมหมูกลายเป็นเรือธงของการส่งออก จากความสามารถในส่งออกหมู สร้างมูลค่าการค้ากว่า 22,000 ล้านบาท เพราะไทยสามารถป้องกัน ASF ได้ ซึ่งการส่งออกถือว่าเป็นเรื่องที่ดีของประเทศ แต่การส่งออกหมูก็เป็นเพียง 5% ของการผลิตภายในประเทศ ถือว่าเป็นปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น ที่สำคัญการส่งออกยังถูกจำกัดจำนวนไว้ไม่เกินวันละ 6,000 ตัว เพื่อให้การบริโภคภายในประเทศไม่ขาดแคลน ให้ประเทศมั่นคง ให้คนไทยทานเนื้อหมูอย่างเพียงพอซึ่งก็เป็นเช่นนั้นมาตลอด
ต่างจากประเทศอื่นที่มีปัญหา ASF กระทบอย่างหนักต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตหมู ตามบทวิเคราะห์ของ บริษัท หลักทรัพย์บัวหลวง ที่ว่าราคาเนื้อหมูของทั้งสองประเทศมีการปรับตัวขึ้นแรง มาตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2563 ต่อเนื่องถึงเดือนมกราคม 2564 โดยราคาหมูในจีนปรับตัวขึ้นกว่า 25% มาที่ระดับ หมูมีชีวิตพุ่งไป 171 บาทต่อกิโลกรัม ดันราคาเนื้อหมูสูงถึง 300 กว่าบาท ราคาหมูมีชีวิตใกล้เคียงระดับสูงสุดของปีที่ผ่านมา ที่ 186 บาทต่อกิโลกรัม โดยสถิติสูงสุดอยู่ที่ 195 บาทต่อกิโลกรัม
ด้านราคาหมูในเวียดนามปรับตัวขึ้น 12% โดยหมูมีชีวิตราคาอยู่ที่ 105 บาทต่อกิโลกรัม โดยรัฐบาลเวียดนามเผยตัวเลขการนำเข้าเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์แปรรูป ในปี 2563 ที่ผ่านมา รวม 141,140 ตัน เพิ่มขึ้นมากถึง 382% จากปี 2562 และคิดเป็นมูลค่า ราว 10,043.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากถึง 503%
ขณะที่ทุกประเทศรอบไทยต้องบริโภคเนื้อหมูราคาแพงมาก ต้องถือว่าไทยโชคดีที่สุดในโลก ที่เนื้อหมู “ถูกที่สุด” และเมื่อขีดเส้นดูต้นทุน-กำไร จะเห็นอย่างชัดเจนว่าเกษตรกรมีกำไรไม่มาก และเป็นกำไรที่แกว่งตัว
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังต้องก้าวเดินต่อ แม้จะมีเสียงเรียกร้องถึงความยากลำบาก จากต้นทุนที่ขึ้นมาสูงมาก แทบจะขายหมูเสมอกับต้นทุนแล้ว แต่ทุกคนยังกัดฟันสู้ ไม่ให้ล้มหายตายจากไปมากกว่านี้ เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคปลายทางต้องเดือดร้อนดังเช่นประเทศอื่น ... คงจะถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องยื่นมือช่วยเหลือเกษตรกรในฐานะฮีโร่ที่ช่วยปกป้องคนไทยและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ ให้เดินหน้าอาชีพของพวกเขาต่อไปได้