ภาคเอกชนไทยติดตามสถานการณ์เมียนมาใกล้ชิด คาดไม่ได้รับผลกระทบโครงการลงทุนในเมียนมาหลังจากเกิดการรัฐประหารขึ้น โดย ปตท.สผ.ยังเดินหน้าโครงการผลิตปิโตรเลียมในเมียนมาตามปกติ พร้อมทั้งมีแผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจรับมือในภาวะฉุกเฉินต่างๆ “เอ็กโก กรุ๊ป” จับมือ ITD อ้อนรัฐบาลไทยเจรจาเมียนมาผลักดันโครงการนิคมฯ ทวาย หลังถูกเมียนมายกเลิกสัญญาอย่างไร้ความผิด
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นั้น บริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ปตท.สผ.อ.) สำนักงานย่างกุ้ง ซึ่งเป็นบริษัทย่อยยังคงดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติจากโครงการซอติก้า รวมถึงโครงการร่วมทุน ได้แก่ โครงการยาดานา และโครงการเยตากุน เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และการบริหารงานต่างๆ ในภาพรวมได้ตามปกติ โดยบริษัทมีแผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Plan - BCP) เพื่อรองรับการบริหารจัดการธุรกิจในภาวะฉุกเฉินต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ปตท.สผ.ได้เข้าไปลงทุนขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียมในเมียนมามาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี ปัจจุบันมีการลงทุนในเมียนมา จำนวน 7 โครงการแบ่งเป็น โครงการผลิตแล้ว 3 โครงการ ได้แก่ โครงการซอติก้า, โครงการยาดานา และโครงการเยตากุล และโครงการที่อยู่ระหว่างสำรวจ 4 โครงการ ได้แก่ โครงการเมียนมา เอ็ม 11, โครงการเมียนมา เอ็ม 3, โครงการเมียนมา เอ็มดี-7 และโครงการเมียนมา เอ็มโอจีอี 3
ล่าสุด ปตท.สผ.ได้ลงนามในหนังสืออนุญาตให้เริ่มดำเนินงานโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในเมียนมา (Integrated Domestic Gas to Power)เพื่อนำก๊าซธรรมชาติจากโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวเมาะตะมะ ซึ่ง ปตท.สผ.เป็นผู้ดำเนินการ มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสมให้กับประเทศเมียนมา โดยเริ่มแรกจะนำก๊าซฯ จากโครงการซอติก้า และโครงการเมียนมา เอ็ม 3 มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าในโครงการดังกล่าว
โดยโครงการนี้จะใช้เงินลงทุนราว 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพัฒนาแหล่งก๊าซฯและก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมขนาด 600 เมกะวัตต์ ในเขตไจลัท ภูมิภาคอิรวดี การก่อสร้างระบบท่อขนส่งก๊าซฯ ทั้งในทะเลและบนบก จากเมืองกันบก-เมืองดอร์เนียน-เมืองไจลัท รวมระยะทางประมาณ 370 กิโลเมตร และการวางระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจากเขตไจลัทไปยังเขตลานทายาในภูมิภาคย่างกุ้ง โดย ปตท.สผ.คาดว่าจะสามารถตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย ในช่วงต้นปี 2565 ซึ่งในโครงการนี้ ปตท.สผ.มีแผนจะร่วมมือกับ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ที่จะเข้าไปผลิตไฟฟ้า
นายฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN กล่าวว่า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบูที่เมียนมา ไม่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารยึดอำนาจและประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1ปีที่เมียนมา เนื่องจากโรงไฟฟ้ามินบูมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงมองไม่เห็นว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้อย่างไร ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังไม่มีแผนการลงทุนในเมียนมาเพิ่มเติม
ทั้งนี้ สแกน อินเตอร์ ได้เข้าร่วมทุนในบริษัท กรีนเอิร์ธ พาวเวอร์ ไทยแลนด์ จำกัด หรือ GEP ในสัดส่วน 40% ในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู กำลังการผลิตติดตั้ง 220 เมกะวัตต์ ที่เมืองมินบูในเมียนมา โดยได้พัฒนาโครงการในเฟสที่ 1 กำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ เสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 และมีแผนจะพัฒนาในเฟสที่ 2-4 กำลังผลิตรวม 170 เมกะวัตต์ที่กำหนดจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในช่วงปลายปี 2564 โดยดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนงานเนื่องจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นตรงกับกระทรวงพลังงานของเมียนมา
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า ในขณะนี้บริษัทฯ ติดตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมา โดยบริษัทได้ร่วมมือกับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เพื่อเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง 300 เมกะวัตต์ ในนิคมอุตสาหกรรมทวาย โดยทาง ITD จะทำหนังสือถึงรัฐบาลไทยให้ขอช่วยเจรจากับเมียนมาเพื่อผลักดันโครงการดังกล่าว หลังจากถูกรัฐบาลเมียนมาได้แจ้งยกเลิกสัญญาโครงการนิคมฯทวายอย่างไม่เป็นธรรม โดยภาคเอกชนไม่ได้ผิดเงื่อนไขใดๆ ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อนักลงทุนไทย ซึ่งภาคเอกชนไทยยังหวังว่าจะได้ดำเนินโครงการเพราะมีการลงทุนไปก่อนหน้านี้ ทั้งการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและอื่นๆ