xs
xsm
sm
md
lg

สภาองค์การนายจ้างฯ ส่งสัญญาณแรงงานภาคท่องเที่ยวยังลำบาก-ส่งออกมีลุ้นดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาองค์การนายจ้างฯ ส่งสัญญาณรัฐ ภาคธุรกิจและแรงงานปี 2564 เปราะบางหนักกว่าปี 2563 หลังการกลับมาของโควิด-19 รอบใหม่ซ้ำเติมสภาพคล่องและแรงซื้อระส่ำ ธุรกิจรัดเข็มขัดรับคนเพิ่มต่ำ หนุนรัฐเร่งอัดฉีดเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนโดยเร็ว ชี้ท่องเที่ยวยังลำบาก แต่ส่งออกเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว เตือนรัฐเตรียมพร้อมรับมือเด็กจบใหม่

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย)
เปิดเผยว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการและแรงงานปี 2564 มีความเปราะบางมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงมีอัตรากำลังการผลิตที่เหลืออยู่แต่ยังต้องพยายามรักษาสภาพการจ้างงานเอาไว้โอกาสจ้างแรงงานเพิ่มจึงมีอัตราต่ำ ขณะที่แรงซื้อยังไม่เพิ่มมากนัก ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ลงถึงชาวบ้านโดยเร็วและต่อเนื่องเพื่อที่จะพยุงให้ระบบเศรษฐกิจไทยค่อยๆ ขับเคลื่อนไปได้ด้วยกลไกการใช้เงินที่เต็มประสิทธิภาพ

“ปีนี้ธุรกิจและแรงงานจะเหนื่อยกว่า ผมเห็นด้วยที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่อยากให้มองในเรื่องกลไกการปฏิบัติในเรื่องการเบิกจ่ายเงินที่ทำอย่างไรให้เบิกจ่ายจริงแล้วถึงมือประชาชนให้ได้ เพราะก่อนหน้านี้ที่รัฐออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทแต่กลับเบิกจ่ายใช้จริงไม่ถึง 50%” นายธนิตกล่าว

ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 ที่ผ่านมาถือว่ารัฐได้ทำอย่างเต็มที่ภายใต้เงินที่มีอยู่ รวมถึงโครงการเราชนะล่าสุดภาพรวมสนับสนุนที่จะต้องเร่งอัดฉีดให้ต่อเนื่อง แต่เงื่อนไขเช่น เงินฝากทุกบัญชีต้องไม่เกิน 5 แสนบาท ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรจะตั้งไว้เพราะหากรัฐส่งเสริมการออมการมีเงินออมเพียงเท่านี้ถือว่าไม่ได้มากเลย หากมีเงื่อนไขนี้ต่อไปคนอาจไม่อยากออม ขณะเดียวกัน เห็นด้วยที่กระทรวงแรงงานมีแนวคิดที่จะเยียวยาโควิด-19 แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นคนละ 3,500 บาท หรือ 4,000 บาท 1 เดือน ซึ่งเห็นว่าหากเป็นไปได้ก็ควรจะพิจารณาให้เท่ากับโครงการเราชนะคือ 7,000 บาท (3,500 บาท 2 เดือน) เป็นต้น

ปัจจุบันภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงมีปัญหาสภาพคล่องโดยเฉพาะเอสเอ็มอี จึงอยู่ที่ว่าธุรกิจใดจะประคองตัวเองได้มากสุดเท่านั้นหากไม่ไหวก็ต้องปิดกิจการ ดังนั้น ปัญหาด้านสภาพคล่องธุรกิจเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่รัฐต้องเร่งเข้ามาแก้ไข โดยคาดว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มลำบาก หากไทยเริ่มฉีดวัคซีนและเสร็จภายในไตรมาส 3 การท่องเที่ยวภายในประเทศของไทยน่าจะกลับมาฟื้นตัวในไตรมาส 4 แต่ต่างชาติคงยังไม่มีมา ภาพรวมจะส่งผลให้แรงงานระดับ 1 ล้านคนในส่วนนี้ยังคงว่างงาน

ขณะที่ภาคส่งออกมีแนวโน้มที่อาจค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวขึ้นเนื่องจากสต๊อกสินค้าหลายรายการของต่างประเทศเริ่มหมดลงเนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้โรงงานมีการปิดตัวลง จึงทำให้มีคำสั่งซื้อมายังภูมิภาคเอเชีย และไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับอานิสงส์เนื่องจากเป็นประเทศที่มีห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ที่เข้มแข็ง ซึ่งจะเห็นได้จากการส่งออกในเดือน ธ.ค. 63 ที่เพิ่มขึ้น 4.71% เมื่อเทียบกับ ธ.ค. 62 จึงทำให้มีการประเมินว่าส่งออกปี 2564 จะโตได้ 4% จากปี 2563 ที่การส่งออกรวมทั้งปีติดลบ 6.01% เมื่อเทียบกับปี 2562 อย่างไรก็ตาม ก็ยังต้องติดตามปัจจัยต่างๆ ใกล้ชิดเนื่องจากแม้ว่าทั่วโลกเริ่มทยอยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่ก็ยังไม่อาจชี้ชัดว่าจะได้ผลอย่างแท้จริง

“ภาคแรงงานของไทยยังคงต้องปรับตัวให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป ซึ่งน่าห่วงเด็กจบใหม่ที่จะออกมาในช่วง มี.ค.-เม.ย.นี้อีกราว 5 แสนคน และยังมีเด็กจบใหม่ของปีก่อนที่ยังคงว่างงานอีกราว 3 แสนคนที่จะหางานยากขึ้นหากไม่ตรงกับที่ตลาดต้องการ จึงเห็นว่ารัฐควรจะมีการสนับสนุนหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะ โดยมีแนวทางสนับสนุนการโอนหน่วยกิตเดิม เช่น คนจบรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ก็สามารถโอนหน่วยกิตบางส่วนที่จะไปเรียนต่อสาขาคอมพิวเตอร์ หรือภาษา ที่ตรงกับตลาดแรงงาน เพื่อดูดซับเด็กบางส่วนไปสร้างทักษะใหม่ เป็นต้น” นายธนิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น