“ศักดิ์สยาม” ดึง “กรุงไทย” คนกลางลงทุนวางระบบกลาง “ระบบตั๋วร่วม” ใช้ผ่านบัตร EMV นำร่องรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน-ม่วง ปักธง ต.ค. 64 ใช้ได้ 50% และเต็มรูปแบบ ม.ค. 65 ขณะที่โมเดลใช้บัตรรถไฟฟ้าปัจจุบันข้ามสาย “เขียว-น้ำเงิน-ม่วง” ไม่คืบหน้า เร่ง รฟม.
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รายงานถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานระยะสั้น โดยเร่งจัดทำระบบให้บัตรโดยสารที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถใช้บัตรข้ามระบบได้ ระหว่างรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง ซึ่งจะทำให้เกิดความสะดวกในการใช้บริการระบบขนส่งมวลชนและส่งผลให้มีปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางข้ามระบบสูงขึ้น โดย รฟม.สนับสนุนข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการทำให้ระบบดังกล่าวแล้วเสร็จโดยเร็ว
ขณะที่แผนระยะยาว พิจารณาความชัดเจนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดทำระบบตั๋วร่วมแบบ Account Based Ticketing (ABT) โดยใช้บัตร EMV Contacless (Europay Mastercard and Visa) มาใช้กับระบบตั๋วร่วม ซึ่ง รฟม.มีความพร้อมที่จะร่วมมือกับสถาบันการเงินที่มีระบบ EMV
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีธนาคารกรุงไทยแจ้งว่ามีความพร้อมที่จะลงทุนในระบบ EMV ทั้งหมดเพื่อให้ผู้ประกอบการมาใช้บริการของธนาคารกรุงไทย สำหรับสายสีม่วง และสายสีน้ำเงิน โดยตั้งเป้าหมายในเดือน ต.ค. 2564 จะใช้ได้ประมาณ 50% และจะใช้ได้อย่างเต็มรูปแบบภายในเดือน ม.ค. 2565
นอกจากนี้ ยังได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มเติม 2 ชุด ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีและสถาปัตยกรรมองค์กร ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานเทคโนโลยีการออกตั๋วร่วม มาตรฐานเทคโนโลยีระบบงาน มาตรฐานโครงสร้างข้อมูล มาตรฐานความปลอดภัยทางเทคโนโลยี และมาตรฐานการดำเนินงานของระบบงาน และคณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานอัตราค่าโดยสารและจัดสรรรายได้ ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานการจัดเก็บค่าธรรมเนียม มาตรฐานการจัดสรรรายได้ มาตรฐานอัตราค่าโดยสารในกรณีใช้อัตราค่าโดยสารร่วม และกรอบมาตรฐานค่าธรรมเนียมการชำระเงิน และการเจรจาต่อรองกับผู้ให้บริการ
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมบูรณาการ เพื่อขับเคลื่อนระบบตั๋วร่วมให้เกิดผลเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงข้อกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณาถึงความซ้ำซ้อนของการลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยให้พิจารณา เปิดโอกาสให้สถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์เข้ามาร่วมพัฒนาระบบตั๋วร่วมได้ รวมถึงการพัฒนาระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติในรูปแบบ M-Flow ตลอดจนดำเนินการกำหนดองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการทั้ง 2 คณะให้แล้วเสร็จเพื่อนำเสนอคณะกรรมการในการประชุมเดือน ก.พ. 2564
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2560 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบโครงสร้างการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับนโยบาย ระดับกำกับดูแล และระดับปฏิบัติการ โดยให้ รฟม.เป็นหน่วยปฏิบัติงาน ต่อมากระทรวงคมนาคมเห็นชอบเทคโนโลยี EMV มาใช้กับระบบตั๋วร่วมบัตรแมงมุม และให้ รฟม. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTS) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) จัดทำระบบตั๋วร่วมให้ใช้บัตรร่วมกันได้ในลักษณะใช้ร่วมกันได้ ซึ่งได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาการเชื่อมต่อระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ (Automatic Fare Collection) ของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้สามารถใช้บัตรโดยสารข้ามระบบ (Interoperable Ticketing System) เพื่อดำเนินการ