xs
xsm
sm
md
lg

อ้อยวูบดันราคาเชื้อเพลิงชีวมวลพุ่ง ไม้สับราคาสูงสุดรอบ 10 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาราคาเชื้อเพลิงชีวมวลพาเหรดขยับราคาหลังผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะอ้อยลดต่ำ ดันราคาไม้สับพุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี เอกชนเกาะติดประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 150 เมกะวัตต์หลัง กกพ.เปิดรับฟังความเห็น รับการคัดเลือกด้วยวิธีประมูลหรือบิดดิ้งอาจเอื้อให้ทุนใหญ่ และวิสาหกิจชุมชนอาจได้รับประโยชน์น้อยกว่าที่คาดไว้

นายวัฒนพงษ์ ทองสร้อย นายกสมาคมการค้าชีวมวลไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ความต้องการไม้สับ หรือไม้ชิป (Wood chips) ที่ผลิตจากไม้ยางพารา ไม้ยูคาลิปตัส ไม้อื่นๆ ที่นำมาผ่านกระบวนการสับย่อยให้กลายเป็นชิ้นเล็ก เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้แก่โรงไฟฟ้าชีวมวลมีความต้องการเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาไม้สับหน้าโรงงานเฉลี่ยอยู่ที่ 1,300-1,350 บาทต่อตันซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 10 ปีเนื่องจากพืชเกษตรหลายตัวมีผลผลิตตกต่ำส่งผลให้เชื้อเพลิงที่เป็นวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตรได้รับผลกระทบตามไปด้วย

“เชื้อเพลิงชีวมวลไทยมีการผลิตเฉลี่ย 30 ล้านตันต่อปีในปัจจุบัน โดย 50% เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น แกลบ ชานอ้อย ฯลฯ และอีก 50% มาจากไม้สับ ไม้ปลูก ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะอ้อยในฤดูหีบปี 63/64 ที่กำลังหีบกันอยู่ได้รับผลกระทบภัยแล้งทำให้ผลผลิตเฉลี่ยแค่ 70 ล้านตันส่งผลให้ชานอ้อยปีนี้จะลดลงไปจากเดิมถึง 50% โรงไฟฟ้าชีวมวลที่เคยใช้ชานอ้อยบางส่วนเริ่มวิ่งมาหาไม้สับ แกลบ มากขึ้น แต่ของก็มีน้อยเพราะผลผลิตข้าวก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก” นายวัฒนพงษ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ที่รัฐจะรับซื้อไฟฟ้า 150 เมกะวัตต์ โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศรับฟังความเห็น “ร่างระเบียบการจัดหาไฟฟ้าและร่างประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าระหว่างวันที่ 21 ม.ค.-4 ก.พ. 2564 ทางเว็บไซต์ของ กกพ.ที่จะใช้คัดเลือกรูปแบบ Competitive Bidding ในการเสนอส่วนลดค่าการลงทุนโรงไฟฟ้า ซึ่งรูปแบบนี้ท้ายสุดก็เท่ากับการไปลดราคาเชื้อเพลิงจากวิสาหกิจชุมชนที่จะเข้าร่วมอยู่ดี ประกอบกับไม่มีการประกันราคาพืชพลังงานตามเงื่อนไขเดิมที่เคยวางกรอบไว้โดยให้มีการเจรจากันเอง

“การบิดดิ้งแม้ว่ารัฐจะชี้แจงว่าแข่งขันเฉพาะการลงทุนโรงไฟฟ้าไม่ใช่เชื้อเพลิง แต่ต้นทุนมันแยกไม่ได้หรอก ภาพรวมถือว่าไม่เอื้อให้บริษัทรายเล็ก กลาง แต่เป็นการเอื้อให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์เพียงแค่มายื่นก็สามารถระดมเงินที่มีต้นทุนต่ำกว่าในการจะเสนอราคาต่ำอย่างไรก็ได้ เราเคยเสนอไปให้เป็นการให้คะแนนโดยเน้นให้ผลตอบแทนวิสาหกิจชุมชนสูงสุดก็ได้ไปหรือไม่ก็จับสลาก แต่เมื่อมาเป็นแบบนี้ก็ต้องเข้าใจ” นายวัฒนพงษ์กล่าว

นายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท.กล่าวว่า ยอมรับว่าขณะนี้จากผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำโดยเฉพาะอ้อยทำให้โรงไฟฟ้าหันไปซื้อแกลบแทนส่งผลราคาแกลบปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,800-2,000 บาทต่อตัน บางส่วนจึงเริ่มหันไปซื้อไม้สับ อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 150 เมกะวัต์ที่จะมีการเปิดให้ยื่นคำเสนอขาย 22 มีนาคม 2564-2 เมษายน 2564 นี้มีเงื่อนไขที่กำหนดให้ต้องเป็นการปลูกพืชใหม่เท่านั้น ก็ถือว่าจะทำให้ชัดเจนถึงเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าใหม่กับเก่าไม่แย่งกันในอนาคต

“ตอนนี้ กกพ.รับฟังความเห็นอยู่ เอกชนคงจะเสนอแนวทางไป แต่ทิศทางยังคงเป็นบิดดิ้งเช่นเดิมซึ่งเห็นว่าจะยังเอื้อให้บริษัทมหาชนหากยึดที่ต้นทุนทางการเงินต่ำ ก็คงต้องติดตามใกล้ชิดและหวังว่าที่สุดจะไม่ซ้ำรอยเหมือนโครงการ SPP Hybrid Firm” นายนทีกล่าว

นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานที่ปรึกษากลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. กล่าวว่า โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากภาพรวมจะทำให้เกิดการลงทุนเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่เห็นว่าจำเป็นต้องขับเคลื่อนออกมา ซึ่งเงื่อนไขที่กำหนดให้มีการปลูกพืชใหม่โดยให้รับซื้อจากวิสาหกิจชุมชน 80% และให้จัดหาเองได้อีก 20% ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่กังวลคือการใช้วิธีบิดดิ้งแม้ว่าจะระบุว่าแข่งขันราคาค่าก่อสร้างภาพรวมก็ยังห่วงว่าประโยชน์จะตกถึงวิสาหกิจชุมชนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น แต่ทั้งหมดก็คงต้องติดตามเป็นสำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น