ปตท.หวั่นโควิด-19 ระลอกใหม่กระทบการเติบโตความต้องการใช้ก๊าซฯ ในปีนี้ที่คาดไว้ขยายตัว 3-4% ขณะที่ราคาแอลเอ็นจีตลาดจรยังสูงถึง 25-26 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู มองโอกาสนำเข้าช่วงราคาถูกหลังมีรูมนำเข้าปีนี้ 5 แสนตัน
นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างติดตามผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ว่าจะมีผลกระทบต่อความต้องการใช้ก๊าซฯ ในประเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จากเดิมคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ก๊าซฯ ในปี 2564 จะเติบโตประมาณ 3-4% จากปี 2563 ความต้องการใช้ก๊าซฯ ในประเทศอยู่ที่ประมาณ 4,600-4,700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ลดลงประมาณ 8% จากปี 2562 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้ก๊าซฯ ที่ลดลงในภาคไฟฟ้า
ปีนี้ในประเทศไทยยังมีช่องว่างสำหรับรองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวตลาดจร (Spot LNG) ประมาณ 5 แสนตัน หรือประมาณ 8-10 ลำเรือ แต่เป็นการประเมินจากความต้องการใช้ก๊าซฯ ในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
อย่างไรก็ตาม ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวตลาดจร (LNG) ล่าสุดได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 25-26 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากสัปดาห์ก่อนราคาสูงกว่าระดับ 30 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งเป็นระดับราคาที่สูงสุดในประวัติการณ์ เนื่องจากสภาพอากาศในแถบเอเชียเหนือที่มีอุณหภูมิลดต่ำกว่าปกติ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ทำให้มีความต้องการใช้ก๊าซสูงขึ้น
“ตอนนี้เพิ่งผ่านมาครึ่งเดือนแล้วยังประเมินผลกระทบโควิด-19 ได้ยาก ดีมานด์ก๊าซฯ ก็คงต้องมาทบทวนกันใหม่ ซึ่งตามปกติแล้วเมื่อเข้าหน้าร้อน ช่วง มี.ค.-พ.ค.เป็นต้นไป ราคาแอลเอ็จีตลาดจรก็จะถูกลง แต่จะถูกลงเหมือนเมื่อปี 63 ที่บางช่วงราคาต่ำกว่า 2 ดอลลาร์ต่อบีทียูคงยาก แต่หากราคายังแพง ปตท.ก็จะไม่นำเข้าแน่นอน”
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศจะไม่ได้รับผลกระทบจากราคาแอลเอ็นจีตลาดจรที่ปรับสูงขึ้น เนื่องจาก ปตท.มีการจัดหา LNG ด้วยสัญญาระยะยาว (long term) ประมาณ 5.2 ล้านตันต่อปี ซึ่งปัจจุบันมีราคาเฉลี่ยต่ำกว่า 7 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ขณะที่ปัจจุบันราคาก๊าซฯ ในประเทศเฉลี่ยรวม (Pool Gas) อยู่ที่ประมาณ 6.5-7 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู
ส่วนแผนการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขาย LNG ในภูมิภาค หรือ LNG HUB คาดว่าจะดำเนินการส่งออก LNG เชิงพาณิชย์ได้ในช่วงปี 2564-2565 เลื่อนออกไปจากเดิมที่คาดว่าจะดำเนินการในช่วงไตรมาส 3/2563 เนื่องจากความต้องการใช้ก๊าซของประเทศคู่ค้าลดลงจากผลกระทบโควิด-19