“พาณิชย์” เกาะติดยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบวงจรคู่ขนานของจีน พบ 3 กลุ่มสินค้ามีความเสี่ยง หลังจีนลดการนำเข้า หันผลิตเอง เผยไทยมีความเสี่ยงและโอกาส ระบุไอทีมีแนวโน้มกระทบ ส่วนประกอบกังหันไอพ่นมีแววรุ่ง เหตุหนุนพลังงานหมุนเวียนของจีน และอาหารยังทำตลาดได้ดี ทั้งข้าว ผลไม้ และอาหาร
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ติดตามผลที่จะเกิดขึ้นต่อการค้าของไทยอย่างใกล้ชิด หลังจากที่จีนประกาศยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบวงจรคู่ขนาน (Dual Circulation Strategy) ซึ่งจะถูกนำมาใช้เป็นนโยบายหลักในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 5 ปี (2021-2025) ที่มีเป้าหมายระยะยาวเพื่อสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยคาดว่าจะเผยแพร่เดือน มี.ค. 2564
การประกาศยุทธศาสตร์ดังกล่าว เนื่องจากจีนเห็นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยพึ่งพาเศรษฐกิจระหว่างประเทศมีความเสี่ยง และยังมีสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้หลายประเทศพยายามลดการพึ่งพาจีน ทำให้จีนมีข้อจำกัดมากขึ้นในการเข้าตลาดประเทศต่างๆ ดังนั้น จีนต้องการลดการพึ่งพาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และมุ่งขยายตลาดในประเทศจากเดิมที่เน้นผลิตเพื่อส่งออก รวมทั้งลดการพึ่งพาการนำเข้าและหันมาผลิตเองมากขึ้น เพราะจำนวนประชากรกว่า 1,400 ล้านคน การบริโภคภายในประเทศสามารถเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนสำหรับจีนได้
ทั้งนี้ จากการศึกษาวิเคราะห์ของ Economist Intelligence Unit (EIU) เห็นว่ามี 3 อุตสาหกรรมที่จีนมีความเสี่ยงสูงจากการพึ่งพาการนำเข้า และมีแนวโน้มที่จีนจะลดการพึ่งพาการนำเข้าในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ได้แก่ เทคโนโลยี พลังงาน และอาหาร
สำหรับผลกระทบต่อการค้าของไทย พบว่าสินค้าไอทีมีความเสี่ยงต่อการส่งออกของไทยในอนาคตหากจีนหันมาผลิตเองมากขึ้น โดยในปี 2562 ที่ผ่านมาจีนนำเข้าสินค้าไอซีจากไทยเป็นมูลค่า 3,874 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนกลุ่มพลังงาน มองว่าจะเป็นประโยชน์ต่อไทยหากสามารถพัฒนาศักยภาพการผลิต โดยเฉพาะส่วนประกอบเครื่องกังหันไอพ่น เพราะจีนมุ่งใช้พลังงานหมุนเวียน และมีการนำเข้าเครื่องกังหันไอพ่นและส่วนประกอบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยไทยจะต้องมุ่งเน้นส่งเสริมการลงทุนและวิจัยพัฒนานวัตกรรม ซึ่งสินค้าดังกล่าวนี้เป็นที่ต้องการของทั้งตลาดโลก และตลาดจีน
ขณะที่สินค้าอาหาร จีนจะลดการนำเข้าในสินค้าอาหารหลัก เช่น ข้าว แต่สถาบันสังคมศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนมีการประเมินว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจีนจะขาดแคลนข้าวสาลี ข้าวโพด และข้าว จึงเป็นโอกาสของไทยเช่นเดิม ส่วนอาหารอื่น เช่น ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง กุ้งแช่แข็ง อาหารปรุงแต่ง ก็ยังมีโอกาสทางการตลาดอยู่มาก ประกอบกับการที่จีนเข้าสู่สังคมเมือง ทำให้คนมีรายได้มากขึ้น รวมทั้งการเป็นสังคมสูงวัย ส่งผลต่อไลฟ์สไตล์การบริโภคอาหารที่ต้องการอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งไทยสามารถที่จะตอบสนองได้