xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผนขับเคลื่อนส่งออกปี 64 ออนไลน์ก็เด่น ออฟไลน์ก็มา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยในปี 2564 หลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ประเมินแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากปี 2563 แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังทำสถิติพุ่งเป็นรายวัน แต่ก็มีความหวังจากการมีวัคซีน ทำให้ทุกฝ่ายมองข้ามช็อตว่าเศรษฐกิจ การค้าโลก กำลังจะสดใสขึ้น และในส่วนของไทยจะมีกลยุทธ์รับมือการฟื้นตัวนี้อย่างไร ไปหาคำตอบกัน

คาดส่งออกทั้งปี 63 ลบไม่เกิน 7%

การส่งออกของไทยในปี 2563 ประสบปัญหาการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยสถิติการส่งออกที่มีตัวเลขแล้ว 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปรากฏว่าติดลบไปทั้งสิ้น 8 เดือน บวกได้แค่ 3 เดือน และมีมูลค่าการส่งออกล่าสุดอยู่ที่ 211,385.69 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.92% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 187,872.73 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 13.74% เกินดุลการค้ามูลค่า 23,512.96 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ประเมินว่า ถ้าการส่งออกเดือน ธ.ค. 2563 สามารถทำได้มูลค่า 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกทั้งปีจะติดลบ 6.86% ทำได้มูลค่า 18,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 6.6% และทำได้มูลค่า 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบเหลือ 6.45% ถือว่าต่ำกว่าที่ประมาณการณ์เอาไว้ว่าทั้งปีจะติดลบ 7%

ประเมินเบื้องต้นส่งออกปี 64 โต 4%

สำหรับการส่งออกในปี 2564 เบื้องต้นหน่วยงานกระทรวงพาณิชย์ ทั้ง สนค. และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เห็นสอดคล้องกันว่า การส่งออกฟื้นตัวขึ้นแน่ และเบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการขยายตัวที่ 4% ซึ่งสอดคล้องกับหลายหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ประเมินเอาไว้ตรงกัน

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าปี 2564 เศรษฐกิจโลกจะมีอัตราการขยายตัวที่ 5.2% จากติดลบที่ 4.4% ในปี 2563 โดยประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่ม Emerging Markets ในเอเชีย (จีน อินเดีย และอาเซียน 5 ประเทศ) จะมีการฟื้นตัวเร็วที่สุดเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ และองค์การการค้าโลก (WTO) คาดว่าการค้าโลกในปี 2564 จะสามารถกลับมาขยายตัวที่ 7.2% ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่จะสนับสนุนการส่งออกของไทยให้ฟื้นตัวขึ้นได้ (ดูตารางประกอบ)

สินค้า-บริการที่มีแนวโน้มขยายตัว

ทั้งนี้ สินค้าที่มีศักยภาพและจะขยายตัวได้ดีในปี 2564 ยังคงเป็นสินค้าที่อยู่ใน 3 กลุ่มหลัก ที่ได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์โควิด-19 ได้แก่

1. สินค้าอาหาร เช่น อาหารกระป๋องและแปรรูป ผลไม้ เครื่องปรุงรส

2. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องโทรสารโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เครื่องซักผ้า เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน อาหารสัตว์เลี้ยง

3. สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด ได้แก่ ถุงมือยาง รวมถึง สินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพและสุขอนามัย

ส่วนธุรกิจบริการที่มีศักยภาพ ได้แก่ ดิจิทัลคอนเทนต์ (เกม แอนิเมชัน คาแรกเตอร์ ซอฟต์แวร์ โฆษณา post production ภาพยนตร์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง) บริการสุขภาพ (สปา โรงพยาบาล คลินิกเฉพาะทาง ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพความงาม ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ) และโลจิสติกส์ (trade logistics)

อัดกิจกรรมทั้งออนไลน์-ออฟไลน์

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กล่าวว่า กรมฯ ได้จัดทำแผนการขับเคลื่อนการส่งออกในปี 2564 ตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แล้ว โดยจะเน้นการทำงานเชิงรุกผ่านรูปแบบผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้การทำงานภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นยังคงสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อผลักดันให้สินค้าไทยเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ และสร้างความต้องการสินค้าไทยให้เกิดขึ้นในตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกในภาพรวมที่จะขยายตัวได้เพิ่มขึ้น

โดยในการบุกเจาะตลาด กรมฯ จะเน้นการเจาะตลาดศักยภาพที่มีการฟื้นตัวได้เร็ว โดยเฉพาะจีนที่ปัจจุบันมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะเจาะจีนทุกรูปแบบทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ และตลาดสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันจะมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นตลาดที่การส่งออกของไทยมีการขยายตัว จึงต้องลุยเจาะต่อไป ส่วนอาเซียน ที่เป็นตลาดสำคัญ จะเดินหน้าจัดจัดงานแสดงสินค้าไทยในรูปแบบ Mini Thailand Week เพื่อกระตุ้นความต้องการสินค้าไทย ซึ่งในปี 2564 มีกำหนดจัดงานใน 7 เมืองของ 5 ประเทศอาเซียน (เสียมราฐ กัมพูชา, สุราบายา อินโดนีเซีย, ตองยี เมียนมา, เกิ่นเทอและไฮฟอง เวียดนาม, เชียงขวาง และไชยะบุรี สปป.ลาว)

ขณะเดียวกันจะใช้กลยุทธ์การเจาะตลาดลงลึกระดับรัฐ มณฑล เมืองศักยภาพ มีเป้าหมาย คือ อินเดีย จีน และเกาหลีใต้ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยล่าสุดจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทยกับกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์แห่งรัฐบาลเตลังคานา ในวันที่ 18 ม.ค.2564 และจะทำกับมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ของจีน และเมืองคยองกี ของเกาหลีใต้ต่อไป

กิจกรรมออนไลน์ทำถี่ยิบทุกรูปแบบ

โดยช่องทางออนไลน์จะมีความเข้มข้นเป็นพิเศษ มีทั้งการจัดกิจกรรมเจรจาการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ (Online Business Matching) ในกลุ่มสินค้าที่เป็นความต้องการของตลาดโลกทุกกลุ่มสินค้าและทุกตลาด การร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดังจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทย เช่น Tmall Global จีน, Amazon สหรัฐฯ, BIG Basket อินเดีย, Klangthai กัมพูชา, Coupang เกาหลีใต้ เป็นต้น การจัดกิจกรรมช่องทางใหม่ๆ ที่ได้ริเริ่มไว้ในปี 2563 เช่น การจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบ Mirror-Mirror (M&M) ที่นำสินค้าไทยไปจัดแสดงในประเทศเป้าหมาย ให้ทูตพาณิชย์เป็นผู้ขาย และเปิดให้มีการเจรจาซื้อขายผ่านทางออนไลน์ และการจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบไฮบริดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ตามสถานการณ์โควิด-19 ได้แก่ Bangkok Gems and Jewelry Fair (BGJF) ก.พ. 2564, STYLE Bangkok มี.ค. 2564, THAIFEX-ANUGA ASIA พ.ค. 2564 และ TILOG-LOGISTIX ส.ค. 2564 เป็นต้น ทั้งนี้ ขึ้นกับความเหมาะสมของแต่ละกิจกรรมและสถานการณ์ ณ เวลานั้น

ชู Trust Thailand สร้างความเชื่อมั่นสินค้าไทย

นายสมเด็จกล่าวว่า กรมฯ มีแผนที่จะเร่งประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ประเทศไทย (Trust Thailand) เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นสินค้าไทย โดยจะเน้นในกลุ่มสินค้าที่มีโอกาสท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะสินค้าอาหาร เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก และสร้างความมั่นใจในการบริโภคอาหารไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกอาหารไทยได้เพิ่มมากขึ้น

“ได้สั่งการอย่างเร่งด่วนให้ทูตพาณิชย์ทั้ง 58 แห่งที่ประจำอยู่ใน 41 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในตลาดเป้าหมายการส่งออกสินค้าอาหารของไทย ได้เร่งสร้างความเชื่อมั่น และสร้างความเข้าใจให้กับผู้ซื้อ ผู้นำเข้าว่าสินค้าไทยมีคุณภาพมาตรฐาน และปลอดโควิด-19 ตลอดจนติดตามสถานการณ์และท่าทีของของแต่ละประเทศอย่างใกล้ชิดแล้ว” นายสมเด็จกล่าว

ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้มีการจัดทำ MOU ความร่วมมือระหว่าง 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์ ในการรับรองการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก (Covid-19 Prevention Best Practice for exported food products originating in Thailand) แล้ว และจะเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อและผู้นำเข้าต่อไป


ทำวิดีโอประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้า

สำหรับการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าไทย เพื่อให้เป็นที่จดจำของผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศ ได้มีการจัดทำวิดีโอประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าไทย Thailand Ready to Serve และส่งให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ทั่วโลก ใช้ในการส่งเสริมการตลาดสินค้าไทยในต่างประเทศ ได้แก่ 1. สินค้าเกษตร (ข้าว มันสำปะหลัง) ภาษาไทย อังกฤษ และจีน 2. สินค้าผลไม้ไทย (ทุเรียน มังคุด ลำไย) 3. สินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ (ไก่ กุ้ง ทูน่า) 4. สินค้าอาหาร Thai Select 5. สินค้าอุตสาหกรรม (เครื่องจักรกลการเกษตร) และ 6. สินค้าฮาลาลไทย เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับสินค้าไทย และกระตุ้นให้มีการซื้อสินค้าไทยแล้ว

ส่วนร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai Select ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับร้านอาหาร Thai Select อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศ เพื่อเป็นช่องทางในการส่งออกสินค้าวัตถุดิบอาหารไทยและเครื่องปรุงรสในอนาคต

จับมือเน็ตไอดอลโปรโมตผลไม้ในจีน

นายสมเด็จกล่าวว่า กิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆ กรมฯ มีแผนที่จะร่วมมือกับเน็ตไอดอล ผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิด (Key Opinion Leader - KOL) บล็อกเกอร์ และอินฟลูเอนเซอร์ที่อยู่ในจีน ให้เข้ามาร่วมจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์คู่ขนานกัน เพื่อโปรโมตผลไม้ไทยภายใต้โครงการ Thai Fruits Golden Months ปีที่ 2 ในจีน หลังจากที่การจัดงานปี 2563 ได้ผลตอบรับดี จึงได้จัดอีกในปี 2564 เป็นปีที่ 2 และได้เพิ่มจำนวนเมืองและกิจกรรมที่จะสร้างความสนใจและกระตุ้นการบริโภคผลไม้ไทยได้เพิ่มขึ้น และมั่นใจว่าจะทำให้การส่งออกผลไม้ไทยไปตลาดจีนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ ในปี 2564 กรมฯ จะจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และกระตุ้นการบริโภคผลไม้ไทยรวม 14 เมือง ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ กวางโจว ฝอซาน จ้านเจียง อู่ฮั่น ชิงต่าว ต้าเหลียน เซี้ยะเหมิน หนานหนิง ฉางซา คุนหมิง เฉิงตู และฉงชิ่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่จัดรวม 11 เมือง โดยคาดว่าจะมีมูลค่าการเจรจาการค้าเติบโตอย่างน้อย 10% จากการจัดงานครั้งแรก ที่มีมูลค่าเจรจาการค้ารวมทั้งสิ้น 816.27 ล้านบาท

“ปี 2563 กรมฯ เคยจัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคผลไม้ไทยผ่านทางออนไลน์ โดยมีนายจุรินทร์มาไลฟ์สด บนแพลตฟอร์ม Tmall ใช้เวลาแค่ 15 นาที มีคนกดไลก์มากถึง 16 ล้านไลก์ สามารถดึงดูดให้คนจีนเข้ามาชม และซื้อผลไม้ไทยได้เป็นจำนวนมาก และมั่นใจว่าการจัดกิจกรรมในปี 2564 จะสร้างการรับรู้ผลไม้ไทย และกระตุ้นการสั่งซื้อผลไม้ไทยได้เพิ่มขึ้นไม่แพ้กัน” นายสมเด็จกล่าว

ตลาดอินเดียเน้นอาหาร-ผลไม้

นายสมเด็จกล่าวว่า ตลาดอื่นๆ กรมฯ มีแผนที่จัดโครงการ Thailand Food & Fruits Fiesta ในอินเดีย โดยจะจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าอาหารและผลไม้ไทย ร่วมกับห้างซูเปอร์มาร์เกตในเมืองเจนไน (Grocery Avenue) มุมไบ (Reliance/Future Group) และนิวเดลี (Spencer) และจะจัดโครงการ In-store Promotion ร่วมกับห้างสรรพสินค้า ห้างโมเดิร์นเทรด และผู้นำเข้าทั่วโลก เน้นตลาดจีน กลุ่มฮิสแปนิกในสหรัฐฯ กลุ่มประเทศเบเนลักซ์ ซึ่งเป็นตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพ

นอกจากนี้จะจัดงานไฮบริด ได้แก่ งานแสดงสินค้าอาหารเสมือนจริง THAIFEX : Virtual Trade Show (VTS) ที่จะจัดคู่ขนานในงานแสดงสินค้า THAIFEX–ANUGA ASIA ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารที่ใหญ่และครบวงจรที่สุดในเอเชีย และจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching - OBM) เพื่อเพิ่มโอกาสการเจรจาการค้าให้แก่ผู้ส่งออกผลไม้ไทย ในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. และ ก.ค. 2564

ลดภาระผู้ประกอบการสู้โควิด-19

นายสมเด็จกล่าวอีกว่า การช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ กรมฯ จะลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการในการเข้าร่วมกิจกรรมงานแสดงสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่กรมฯ จัด หรือกรมฯ เข้าร่วม ทั้งยกเว้นค่าเข้าร่วมกิจกรรม และการลดค่าคูหา รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรมการฝึกอบรมในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศที่กรมฯ จัดขึ้น

จากกิจกรรมกระตุ้นการส่งออกที่จะดำเนินการอย่างเข้มข้น ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ นายสมเด็จมั่นใจว่าจะเป็นแรงหนุนไม่มากก็น้อยที่จะช่วยขับเคลื่อนการส่งออกในปี 2564 ให้ฟื้นตัวกลับมาเป็นบวก ส่วนจะบวกมาก บวกน้อยกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 4% ก็ต้องมาลุ้นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น