“จุรินทร์” ถก 4 สมาคมมันสำปะหลังติดตามสถานการณ์และเตรียมมาตรการรับมือช่วงผลผลิตออกสู่ตลาด เผยแนวโน้มราคาเป็นขาขึ้นหลังจีนต้องการไปผลิตแอลกอฮอล์ ย้ำผู้ส่งออกอย่าขายตัดราคา เล็งดึงผู้ผลิตเอทานอลและอาหารสัตว์ในประเทศช่วยรับซื้อ แก้เกมพึ่งตลาดส่งออกเพียงอย่างเดียว
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า วานนี้ (6 ม.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ 4 สมาคมที่เกี่ยวข้องกับมันสำปะหลัง ได้แก่ สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย และสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าพบ เพื่อรายงานสถานการณ์และหารือถึงแนวทางการดูแลราคามันสำปะหลังให้แก่เกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวภายหลังการหารือว่า จากการติดตามสถานการณ์มันสำปะหลัง พบว่าแนวโน้มราคายังคงเป็นขาขึ้นเพราะมีความต้องการซื้อมันเส้นไปผลิตแอลกอฮอล์จากจีนเป็นจำนวนมาก โดยราคาแอลกฮอล์ FOB ปัจจุบันอยู่ที่ 280 เหรียญสหรัฐต่อตัน หากทอนมาเป็นราคาหัวมันสดจะตกกิโลกรัม (กก.) ละ 2.50 บาท แต่ราคาซื้อขายปัจจุบันอยู่ที่เฉลี่ย กก.ละ 2.20 บาท จึงมีความเป็นห่วงว่าหากผลผลิตออกสู่ตลาดมากจะกระทบต่อราคาที่เกษตรกรจะขายได้ ทาง 4 สมาคม จึงมาขอเข้าพบรัฐมนตรี และเสนอมาตรการเพื่อช่วยผลักดันราคา
ในด้านการส่งออก สมาคมที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปดูแลสมาชิกไม่ให้มีการขายตัดราคาเพื่อรักษาระดับราคาส่งออกไม่ให้ตกลง และกรมฯ จะกำกับดูแลการส่งออกให้เป็นไปตามคุณภาพมาตรฐานที่กำหนด เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศผู้ซื้อใช้ประเด็นนี้เป็นข้ออ้างในการกดราคารับซื้อผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากไทย โดยหากตรวจสอบพบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานจะดำเนินการตามกฎหมายเด็ดขาด
นอกจากนี้ จะดูแลเรื่องการนำเข้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เช่น ขึ้นทะเบียนผู้นำเข้า รายงานการนำเข้า ต้องมีสถานที่เก็บสินค้าที่นำเข้าเฉพาะแยกจากสถานที่รับซื้อภายในประเทศ ต้องนำเข้าผ่านจังหวัดและด่านศุลกากรกับจุดที่กำหนด เป็นต้น และยังได้ขอความร่วมมือกรมศุลกากร และฝ่ายความมั่นคงให้ช่วยดูแลเรื่องการลักลอบนำเข้าด้วย
สำหรับมาตรการอื่นๆ กรมการค้าภายในจะไปหารือกับผู้ผลิตเอทานอลเพื่อนำมันสำปะหลังไปผลิตเป็นแอลกอฮอล์ และผู้ผลิตอาหารสัตว์ในประเทศ เพื่อนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะมีการลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) รับซื้อมันสำปะหลังจากเกษตรกร เพื่อเพิ่มทางเลือกในการขายผลผลิตให้แก่เกษตรกรต่อไป เพราะหากสามารถขายในประเทศได้ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออกเพียงอย่างเดียว