เงินเฟ้อ ธ.ค. 63 ลบ 0.27% ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน หดตัวต่ำสุดรอบ 10 เดือน หลังกลุ่มอาหารสดปรับตัวสูงขึ้น ได้แรงหนุนจากคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน เราเที่ยวด้วยกัน ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น แต่ยังถูกฉุดจากราคาพลังงาน ส่วนเงินเฟ้อทั้งปี 63 เป็นไปตามเป้าลบ 0.85% เหตุเจอโควิด-19 และการท่องเที่ยวลดลง ทำการบริโภคหดตัว ตั้งเป้าปี 64 บวก 1.2% มีค่าเฉลี่ย 0.7-1.7%
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ธ.ค. 2563 เพิ่มขึ้น 0.15% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย. 2563 และลดลง 0.27% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 2562 เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และหดตัวน้อยสุดในรอบ 10 เดือนนับจาก มี.ค. 2563 โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้ากลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ กำลังซื้อของเกษตรกรดีขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นทำให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มพลังงานยังเป็นตัวฉุด แม้ราคาจะลดลงไม่มากแต่ก็ลดอยู่ และยังได้ผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ทั้งคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน เราเที่ยวด้วยกัน ที่มีส่วนกระตุ้นการบริโภค
สำหรับเงินเฟ้อทั้งปี 2563 ลดลง 0.85% อยู่ในเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ติดลบ 1.5% ถึงลบ 0.7% โดยปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อทั้งปีติดลบมาจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และความต้องการบริโภคสินค้าชะลอตัว จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวลดลง ขณะเดียวกัน ได้รับผลดีจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ทั้งการปรับลดราคาสินค้าตลอดทั้งปี การดูแลค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม เป็นต้น
ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ธ.ค. 2563 เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย. 2563 เพิ่มขึ้น 0.05% และเทียบกับธ.ค. 2562 เพิ่มขึ้น 0.19% เฉลี่ยทั้งปี 2563 เพิ่มขึ้น 0.29% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสินค้ายังมีการเคลื่อนไหว และราคาปรับตัวสูงขึ้น เพราะได้หักสินค้าที่มีความผันผวน ทั้งกลุ่มอาหารและพลังงานออกไป
“การที่เงินเฟ้อทั้งปี 2563 ติดลบมา 10 เดือนติดต่อกัน เข้าข่ายเป็นเงินฝืดในทางทฤษฎี แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเงินฝืด เพราะในเชิงเศรษฐกิจ สินค้าและบริการส่วนใหญ่ยังมีราคาสูงขึ้น แต่ถูกฉุดโดยราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง แม้จะเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายปี และยังได้ผลดีจากมาตรฐานของรัฐที่ดูแลราคาสินค้า ค่าสาธารณูปโภค ทำให้ไม่มีการปรับขึ้นราคา” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า ในปี 2564 คาดว่าเงินเฟ้อในไตรมาสแรกจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ที่จะส่งผลกระทบทำให้การบริโภคชะลอตัว แต่ราคาสินค้ายังเป็นปกติ ไม่มีการกักตุนสินค้า อาจจะมีปัญหาเรื่องการขนส่งบ้างในบางพื้นที่ และราคาน้ำมันคาดว่าจะยังทรงตัว โดยประเมินว่าจะติดลบไม่เกิน 0.5% แต่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นไตรมาส 2, 3 และ 4 ที่จะกลับมาเป็นบวกได้ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง การส่งออกดีขึ้น การมีวัคซีน และการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ส่งผลให้คาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีบวก 0.7–1.7% มีค่ากลางอยู่ที่ 1.2%
ทั้งนี้ เป้าหมายเงินเฟ้อในปี 2564 มีสมมติฐานจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ 3.5-4.5% น้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 40-50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ