ส่งออก พ.ย. 63 ฟื้นต่อเนื่อง ลดลง 3.65% หดตัวต่ำสุดในรอบปี หลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว มีการสั่งซื้อสินค้าเพิ่ม และมีข่าวดีวัคซีนโควิด-19 ส่วนอาหาร สินค้าทำงานที่บ้าน และสินค้าป้องกันติดเชื้อยังเติบโตได้ดี ทำยอดรวม 11 เดือน ลบ 6.92% มั่นใจทั้งปีต่ำกว่าที่คาดลบ 7% คาดปี 64 บวก 4% ได้แรงหนุนเศรษฐกิจ การค้าโลกฟื้น มีวัคซีน น้ำมันปรับตัวดีขึ้น
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน พ.ย. 2563 มีมูลค่า 18,932.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 3.65% หดตัวต่ำสุดในรอบปี 2563 ที่การส่งออกเคยมีการติดลบมา ถือเป็นสัญญาณดีของการส่งออกของไทยที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 18,880.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 0.99% ซึ่งเห็นสัญญาณดีต่อการส่งออก เพราะมีการนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรเพิ่มขึ้น โดยยังเกินดุลการค้า 52.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่การส่งออกรวม 11 เดือนปี 2563 (ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่า 211,385.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 6.92% การนำเข้ามีมูลค่า 187,872.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 13.74% เกินดุลการค้ามูลค่า 23,512.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกฟื้นตัวดีขึ้น มาจากเศรษฐกิจโลกดีขึ้น มีการสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นจากการที่หลายประเทศมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีข่าวดีจากความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการผลิตและการบริโภค และยังได้รับผลดีจากกลุ่มสินค้าที่ขยายตัวได้ดีใน 3 กลุ่มหลัก คือ อาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด ส่วนสินค้ากลุ่มอื่นๆ มีการส่งออกได้เพิ่มขึ้นและลดลง แต่แนวโน้มหลายตัวเริ่มติดลบน้อยลง
ทางด้านตลาดส่งออก ก็ฟื้นตัวดีขึ้น ตลาดหลัก เพิ่ม 5.9% โดยสหรัฐฯ เพิ่ม 15.4% ญี่ปุ่น เพิ่ม 5.4% สหภาพยุโรป (อียู) 15 ประเทศ ลด 8.5% จากการล็อกดาวน์ในบางประเทศ ตลาดศักยภาพสูง ลด 11% โดยจีน ลด 8.9% อาเซียน 5 ประเทศ ลด 15% CLMV ลด 13% เอเชียใต้ ลด 1.5% โดยอินเดีย ลด 1.3% ตลาดศักยภาพระดับรอง เพิ่ม 4.2% โดยทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 23.7% ทวีปแอฟริกา เพิ่ม 4.9% รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS เพิ่ม 20.8% แต่ตะวันออกกลาง ลด 12.1% และลาตินอเมริกา ลด 12.1%
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า การส่งออกในเดือน ธ.ค. 2563 หากส่งออกได้มูลค่า 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกทั้งปีจะติดลบ 6.86% มูลค่า 18,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบ 6.6% และมูลค่า 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบเหลือ 6.45% ถือว่าต่ำกว่าที่ประมาณการณ์เอาไว้ว่าทั้งปีจะติดลบ 7% ถือว่าประเทศไทยทำได้ดี
ส่วนปี 2564 เบื้องต้นประเมินว่าการส่งออกจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ 4% โดยมีปัจจัยหนุนมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจการค้าโลก แม้จะมีการล็อกดาวน์เป็นจุดๆ แต่ไม่กระทบเศรษฐกิจรุนแรงเหมือนรอบแรก วัคซีนน่าจะออกมาแล้ว แม้จะยังฉีดไม่ได้ทุกคน แต่ก็สร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้น ราคาน้ำมัน มีแนวโน้มฟื้นตัว หากโควิด-19 จำกัดได้ สินค้าไทยทั้งกลุ่มอาหาร ทำงานที่บ้าน และดูแลสุขภาพ ยังคงส่งออกได้ดี รวมถึงกลุ่มอื่นๆ ที่มีแนวโน้มดีขึ้น เช่น รถยนต์ ส่วนปัจจัยที่ต้องระวัง คือ ค่าเงิน และนโยบายของสหรัฐฯ ที่อาจจะมีผลกระทบต่อการส่งออก