รฟม.ปรับกรอบงบลงทุนปี 64 เหลือ 1.65 หมื่นล้าน เหตุประมูลสีม่วงใต้หลุดเป้า เซ็นสัญญาปี 65 หลังยังไม่สรุปพื้นที่ก่อสร้าง ตั้งเป้าขายซอง ก.พ. 64 ได้ตัวผู้รับจ้าง ต.ค.- พ.ย. 64 หวั่นค่าโง่ต่อสีเหลือง ยัน “บีทีเอส” ต้องเปิดช่องเจรจาชดเชย BEM
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ที่มี นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เป็นประธาน วันที่ 17 ธ.ค. ได้มีมติเห็นชอบตามที่ รฟม.เสนอ ปรับปรุงวงเงินลงทุนประจำปี 2564 จากที่เสนอไปจำนวน 18,482 ล้านบาท ลดลง 1,965 ล้านบาท เหลือ 16,516 ล้านบาท โดยเป็นการปรับลดค่าลงทุน โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ในส่วนของค่างานโยธาออกไป เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติการใช้พื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ และตามแผนงานคาดว่า จะสามารถเปิดประมูลได้ แต่อาจจะลงนามสัญญากับผู้รับจ้าง ไม่ทันปีงบประมาณ 2564 จึงยังไม่มีการเบิกจ่ายค่าก่อสร้างล่วงหน้า (Advance Payment) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของมูลค่างาน
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. (โครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 12.6 กม. และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 11 กม.) วงเงินลงทุน 101,100 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 15,913 ล้านบาท ค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 32 ล้านบาท ค่างานโยธา 77,385 ล้านบาท ค่าก่อสร้างสิ่งทดแทนหน่วยงานราชการที่ได้รับผลกระทบ 1,335 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง 2,865 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด (Provisional Sum) ของงานโยธา 3,582 ล้านบาท
โดยจะมีการประมูลก่อสร้างมูลค่า 80,967 ล้านบาท (มีค่างานโยธา 77,385 ล้านบาทและค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 3,582 ล้านบาท) แบ่งเป็น 6 สัญญา ประกอบด้วย งานใต้ดิน 4 สัญญา งานทางยกระดับ 1 สัญญา และงานระบบราง 1 สัญญา
ซึ่งขณะนี้ รฟม.ได้ออกแบบและเตรียมเอกสารประกวดราคาเสร็จแล้ว หากได้ข้อสรุปเรื่องพื้นที่ก่อสร้างพร้อมเปิดประมูลทันที โดยจะมีการปรับปรุงราคากลางให้เป็นปัจจุบันก่อนวันประกาศประมูล 30 วัน โดยแผนงานขณะนี้ได้กำหนด ว่า จะเปิดขายซองประกวดราคาเดือน ก.พ. 2564 ได้ตัวผู้ชนะประมูล ต.ค.- พ.ย. 2564 (ไตรมาสที่ 1/2565) คาดว่า จะเริ่มก่อสร้างเดือน ธ.ค. 2564
“นอกจากนี้ ลดงบลงทุนแล้วมีส่วนที่เพิ่มด้วย เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ) ก่อสร้างได้เร็ว เบิกค่างานได้เร็วไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่มีการปรับวงเงินลงทุนให้สอดคล้องกับการปฏิบัติจริง ซึ่งหลังจากบอร์ด รฟม.เห็นชอบแล้วจะเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอต่อ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาเห็นชอบต่อไป” ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าว
@รฟม.หวั่นค่าโง่สีเหลือง ยัน “บีทีเอส” ต้องเปิดช่องเจรจาชดเชย MRT
ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวถึงส่วนขยายสายสีเหลือง ช่วงรัชดาฯ-ลาดพร้าว-รัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม. ว่า การเจรจากับ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานสายสีเหลือง กรณีที่ให้มีข้อความในสัญญาต่อขยายสีเหลือง เปิดโอกาสให้มีการเจรจาในอนาคต กรณีที่กระทบต่อรายได้และผู้โดยสาร ของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MRT ยังไม่คืบหน้า โดยมีเวลาเจรจาไปจนกว่าจะเปิด
ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอซองที่ 4 ของ กลุ่มบีทีเอส ที่ให้การเจรจาจบก่อนเปิดเดินรถสีเหลืองสายหลัก ซึ่งหากที่สุดเจรจาไม่ได้ คงต้องยุติส่วนต่อขยายสีเหลืองไปตามเงื่อนไข ทั้งนี้ จะต้องขึ้นกับการพิจารณาของบอร์ด รฟม.ด้วย
“รฟม.เสนอแนวทางที่ยืดหยุ่นที่สุด เพราะไม่ได้บอกว่าให้ชดเชยเลย แต่ให้เปิดช่องเพื่อเจรจาได้ และ BEM มีหน้าที่พิสูจน์ให้ได้ว่ากระทบจากส่วนต่อขยายสีเหลืองจริง จึงจะมีการพิจารณาแนวทางชดเชยที่เหมาะสม ซึ่งบอร์ด รฟม.เห็นด้วย เพราะ ไม่อยากให้มีค่าโง่ในอนาคต”
โดยผลการศึกษาพบว่า รถไฟฟ้าสายสีเหลืองต่อขยาย จะมีผลกระทบต่อผู้โดยสารรถไฟฟ้าสีน้ำเงินในปีแรกๆ ของสัญญา ประมาณ 9,000 เที่ยว-คน และปีท้ายๆ จะกระทบประมาณ 30,000 เที่ยว-คน