การตลาด - ก้าวต่อไปของ “เจเคเอ็น” ไม่หยุดแค่ขายคอนเทนต์ แต่ต้องเป็นอย่าง “ค่ายดิสนีย์” ลั่นอีก 5 ปีไปถึงฝัน จากเจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย สู่ เจเคเอ็น โกลบอล โฮลดิ้ง แตกธุรกิจคอนเทนต์สู่คอมเมิร์ซ และพร็อพเพอร์ตี้แลนด์ พร้อมโกยรายได้จากระดับพันล้านสู่หมื่นล้าน
“แผนการดำเนินงานของ JKN เวลานี้ คือ เรามองดิสนีย์เป็นไอดอล อย่างค่ายยูนิเวอร์แซล อย่างวอร์เนอร์ บราเธอร์ส ที่โมเดลเขาขับเคลื่อนธุรกิจด้วยคอนเทนต์ ต่อยอดด้วยคอมเมอร์เชียล และพร็อพเพอร์ตี้สวนสนุก เราเองจึงได้นำวิสัยทัศน์นี้มาสู่ The River King ทำเป็นพร็อพเพอร์ตี้แลนด์เช่นกัน” เป็นคำกล่าวจาก จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ หรือ “แอน JKN ข้ามเพศพันล้าน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ JKN
ภาพของ JKN กำลังเปลี่ยนบทบาทจากธุรกิจซื้อขายคอนเทนต์ หรือจากเจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย สู่ เจเคเอ็น โกลบอล โฮลดิ้ง ภายใน 5 ปีนี้ ซึ่งจิ๊กซอว์ที่จะมาเติมเต็มนั้น คือ 1. ธุรกิจคอมเมอร์เชียล โดยในปี 2564 จะเห็นภาพชัดเจนขึ้น และ 2. พร็อพเพอร์ตี้แลนด์ จะเห็นใน 3 ปีจากนี้ จากโปรเจกต์ The River King ที่เริ่มก่อสร้างไปแล้ว
แผนการดำเนินงานในปี 2564 ภาพของ JKN จากบริษัทด้านโกลบัลคอนเทนต์ จะเข้าสู่คอนเทนต์คอมเมิร์ซ คอมปะนี มุ่งเน้นธุรกิจคอมเมอร์เชียล ภายใต้กลยุทธ์ซีอีโอแบรนด์ดิ้ง โดยในปีหน้าบริษัทฯ พร้อมใช้งบลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท เน้น 2 ธุรกิจหลัก คือ 1. กลุ่มธุรกิจคอนเทนต์ ลงทุน 900 ล้านบาท ซึ่งเป็นธุรกิจเดิมที่จัดจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ทั้งนำเข้าและส่งออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ และรายการข่าวการเงินเศรษฐกิจชั้นนำของประเทศ และ 2. กลุ่มธุรกิจคอมเมิร์ซ ลงทุน 100 ล้านบาท ประกอบด้วย สินค้าเพื่อสุขภาพ-ความงาม สินค้าอุปโภคบริโภคครบวงจร ที่ครอบคลุมตั้งแต่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหารแห้ง อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่มและไลฟ์สไตล์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโตสูง
จากภาพคอนเทนต์คอมเมิร์ซ คอมปะนี ในช่วง 3 ปี รายได้หลักจะมาจากคอนเทนต์ 50% และคอมเมิร์ซเท่าๆ กันภายในปี 2565 หรือมีรายได้ร่วม 5,000 ล้านบาท โดยหลังจาก 5 ปีจากนี้หรือในปี 2567 ที่โปรเจกต์ The River King แล้วเสร็จและเปิดให้บริการ JKN จะก้าวสู่การเป็นโกลบัล โฮลดิ้ง คอมปะนีในที่สุด หรือจะมีรายได้ระดับ 10,000-15,000 ล้านบาท มาจาก 3 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ 1. คอนเทนต์ 2. คอมเมอร์เชียล และ 3. พร็อพเพอร์ตี้
คอนเทนต์ต่างประเทศราคาลง JKN ปั้นขายเอง
แอน JKN กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจคอนเทนต์ด้วยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถผลิตคอนเทนต์อออกมาได้ สถานีโทรทัศน์เกือบทุกช่องจึงวิ่งเข้าหาเรา เพราะเรามีคอนเทนต์หลากหลายพร้อมให้เขานำไปออกอากาศ แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจทำให้ดีลในการซื้อขายคอนเทนต์ก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย เช่น ดีลการจ่ายค่าคอนเทนต์จาก 3 เดือน เพิ่มเป็น 6 เดือน รวมถึงเวลาโฆษณาที่แต่ละสถานีโทรทัศน์ให้มาด้วย รวมๆ แล้วคิดเป็นมูลค่านับ 100 ล้านบาท เราจึงเอาเวลาตรงนี้มาขายของดีกว่า ซึ่งสินค้าของทาง JKN ที่เห็นโฆษณาขายในแต่ละช่องนั้นฟรีหมดจากดีลที่เกิดขึ้นนี่เอง ซึ่งที่เห็นนั้นยังใช้ไม่หมดเลย จึงจะนำโควตานี้เก็บไว้ใช้ในปีหน้าด้วย จากแผนธุรกิจคอมเมอร์เชียลที่จะเห็นมากขึ้นในปีหน้า ทั้งสินค้าอาหารเสริม ความสวยความงาม อาหารเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เป็นต้น
ส่วนในแง่ของตลาดซื้อขายคอนเทนต์โลกนั้น ช่วงปีที่ผ่านมาจากที่แต่ละประเทศไม่สามารถจัดงานอีเวนต์ หรือโชว์เคสซื้อขายกันได้ อย่างเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ที่งดจัดไปในปีนี้ ทำให้เจ้าของคอนเทนต์พร้อมขายในราคาที่ถูกลง หรือดีลในการซื้อขายถูกลงกว่าครึ่ง เช่น สัญญาการซื้อขายคอนเทนต์จากที่ให้ถือครอง 3 ปี เพิ่มให้เป็น 7 ปี เป็นต้น ทำให้บริษัทฯ กว้านซื้อคอนเทนต์มาได้เยอะมากในราคาที่ถูก หรือในปีนี้ลงทุนซื้อคอนเทนต์ไปกว่า 2,200 ล้านบาท ได้มาทั้งคอนเทนต์ฮอลลีวูด เอเชียแฟนตาซี โดยเฉพาะคอนเทนต์จากประเทศจีน ซื้อมาได้ถูกสุดในเอเชีย รวมถึงอินเดีย และอินโดนีเซียด้วย
ขณะเดียวกัน ในแง่ของการขายคอนเทนต์ไปต่างประเทศนั้น ปีนี้น่าจะทำได้ 600 ล้านบาท คิดเป็น 35-40% ของรายได้รวมในปีนี้ ซึ่งปัจจุบัน JKN เป็นตัวแทนการขายคอนเทนต์ละครให้แก่ช่อง 3 ทั้งหมด รวมถึงช่อง 8 ที่เป็นรายล่าสุดจะเริ่มทำการขายในปีหน้า และสำคัญสุดคือ ช่อง 7 เองก็เป็นอีกรายที่สนใจให้ทาง JKN เป็นตัวแทนให้เช่นกัน กำลังอยู่ในขั้นตอนการพูดคุยกันอยู่ซึ่งช่อง 7 นั้นที่ผ่านมาไม่เคยส่งออกคอนเทนต์ละครไปต่างประเทศเลย เช่นเดียวกับช่อง 8 ซึ่งบริษัทฯ จะดูแลให้หมด โดยจะรับเฉพาะคอนเทนต์ละครที่ไม่เก่ามาก หรือมีอายุไม่เกิน 2 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม จากที่ได้เข้าซื้อรายการชาร์กแทงก์มา ทำให้ได้ทีมงานรายการนี้มาด้วย ถือเป็นทีมงานที่มีความสามารถ ส่งผลให้ JKN จากนี้จะก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์เองด้วย โดยมีเป้าหมายทำรายการเพื่อการขายต่อในระดับโลก เบื้องต้นในปี 2564 จะมี 7 รายการ เช่น โปรเจกต์รันเวย์ ออกอากาศทางช่อง 3 แทนเดอะเฟซ, สตรีทคิทเช่น, ชาร์กแทงก์ ทางช่อง 7, Love Travel ที่มีทั้งในไทยและสิงคโปร์ รวมถึงรายการที่ออกอากาศทางช่อง 7 และ PPTV ที่กำลังเจรจากันอยู่อีก 2 รายการ เป็นต้น
สำหรับการซื้อชาร์กแทงก์เข้ามานั้น ทาง JKN ถือหุ้น 70% และอีก 30% คืนให้กับทางสิงห์, กฤษน์ ศรีชวาลา และเจ้าของเดิม ซึ่งชาร์กแทงก์กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของ JKN Live บริษัทด้านโปรดักชัน บนที่ดิน 3 ไร่ ย่านพุทธมณฑลสาย 2 ที่จะทำเป็นสตูดิโอผลิตรายการ และต่อยอดเป็นธุรกิจด้านพร็อตเพอร์ตี้ ในการทำอีเวนต์ต่างๆ เช่น จัดงานแต่งงาน, ถ่ายทำมิวสิกวิดีโอ รวมถึงเช่าชุดราตรีต่างๆ ที่ทางบริษัทมีอยู่ และมีโรงแรมเปิดให้บริการด้วย
ทุ่ม 1,000 ล้าน ลุยปี 64
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2564 นั้น จะใช้งบลงทุนรวมทั้งหมดกว่า 1,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น ด้านคอนเทนต์ 900 ล้านบาท และสินค้าคอมเมอร์เชียลอีก 100 ล้านบาท
โดย น.ส.กมลรัตน์ มงคลครุธ รองกรรมการผู้จัดการสายงานขาย JKN ได้กล่าวถึงแผนธุรกิจคอมเมอร์เชียลที่จะรุกหนักในปี 2564 ว่า บริษัทฯ จะนำจุดแข็งด้าน CEO Branding และการสร้างสรรค์คอนเทนต์ในเชิงการตลาด มาช่วยสื่อสารการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่แบรนด์ในกลุ่มธุรกิจคอมเมิร์ซ ผ่านรูปแบบรายการต่างๆ ทั้งการผลิตคอนเทนต์โดย JKN ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 20 รายการ และการ tie-in สินค้า ที่ดำเนินธุรกิจภายใต้เจเคเอ็น โกลบอล ลิฟวิ่ง เน็ต เวิร์ค และบริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งขึ้นจากการจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ
ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคของ JKN สามารถแบ่งออกเป็น 3 หมวดหลักๆ ได้แก่ 1. หมวดสินค้าสุขภาพและความงาม เช่น C-TRIA by Anne JKN (ซีเทรีย) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อผิวและแก้ไขปัญหาผิวถึงระดับยีน, Olig Fiber (โอลิก ไฟเบอร์) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อรูปร่าง, V-Allin (วี ออลิน) พลังเพื่อความสำเร็จวิตามินรวมหลายชนิด ที่สกัดจากธรรมชาติ 100% ช่วยบาลานซ์และปรับสมดุลฮอร์โมนของร่างกาย, Fish Cap (ฟิช แคป) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับเด็ก วัย 1 ขวบขึ้นไป และ Hair Now (แฮร์ นาว) ผลิตภัณฑ์ปลูกหนวด คิ้ว ผม และบำรุงรากผมให้แข็งแรง ดกดำอยู่เสมอ
2. หมวดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ได้แก่ อาหารแห้งและอาหารสำเร็จรูปแบรนด์ หมี่วอย และ ทูฟิต เครื่องดื่มสมุนไพรสกัด และเครื่องดื่มสมุนไพรสกัดผสมวิตามิน ภายใต้แบรนด์สินค้า CUPID (คิวปิด) 3. หมวดสินค้าบริการด้านความงามและไลฟ์สไตล์ ได้แก่ ธุรกิจสอนทำอาหาร คลินิกศัลยกรรมตกแต่งความงาม เป็นต้น
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้วางแผนออกผลิตภัณฑ์คุณภาพใหม่ๆ ปีละ 40-50 รายการ ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่ม กระจายสินค้าไปทุกช่องทาง ทั้งร้านค้าปลีกทั่วไป และร้านค้าปลีกสมัยใหม่ทั่วประเทศ รวมถึงช่องทางออนไลน์ มั่นใจว่าคุณภาพที่ดีของสินค้าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคอย่างแน่นอน
ด้านนายธีรภัทร เพ็ชรโปรี รองกรรมการผู้จัดการสายงานการเงินและบัญชี JKN กล่าวต่อว่า กลุ่มธุรกิจคอมเมิร์ซ ถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการสร้างรายได้และกำไรขั้นต้นที่ดีที่สูงกว่ากลุ่มธุรกิจคอนเทนต์ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ย 45% หลังจากต้นทุนค่าจำหน่ายลิขสิทธิ์มีราคาต่ำลง และเชื่อมั่นว่าโมเดลธุรกิจที่มุ่งจับมือร่วมทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งมีจุดแข็งด้านการคิดค้นการผลิตสินค้า และการบริการในกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ ความงาม และไลฟ์สไตล์ มาผนวกกับความชำนาญด้านการทำตลาดและการผลิตคอนเทนต์ของ JKN จะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนและเร่งอัตราการเติบโตด้านผลการดำเนินงานได้อย่างแน่นอน