ผู้ใช้ฟิล์มบีโอพีพีและฟอยล์อะลูมิเนียมทำหนังสือถึง “จุรินทร์” ขอเข้าพบชี้แจงผลกระทบและความเสียหายจากการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (SG) หวังให้ข้อมูลที่ชัดเจน และป้องกันไม่ให้ผลกระทบบานปลายจนถึงขั้นสินค้าแพงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากลุ่มผู้ประกอบการทื่ใช้สินค้าฟิล์มบรรจุภัณฑ์ไบแอคเซียลลี ออเรียนเต็ดโพลิโพรพิลีน หรือฟิล์มบีโอพีพี และสินค้าฟอยล์อะลูมิเนียม ได้มอบให้ตัวแทนทำหนังสือถึง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอชี้แจงผลกระทบและความเสียหาย หากกระทรวงพาณิชย์มีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สินค้าฟิล์มบีโอพีพีเกรดทั่วไป และใช้มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure : SG) สินค้าฟอยล์อะลูมิเนียม
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการให้ข้อมูลในหนังสือว่า หากมีการใช้ AD และ SG กับสินค้าทั้ง 2 ชนิดจะทำให้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว ลูกอม เบเกอรี อาหารแช่แข็ง อาหารแห้ง ไอศกรีม ซองเครื่องปรุงรสทั้งแบบแห้งและเหลว ฉลากบนขวดบรรจุภัณฑ์ เครื่องดื่ม ซองบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอาง ซองบรรจุภัณฑ์ผงซักฟอก ถุงบรรจุภัณฑ์ยาและเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น จะได้รับผลกระทบทำให้มีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น
ขณะเดียวกัน การใช้มาตรการยังทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ และเกิดปัญหาไม่มีวัตถุดิบเพื่อนำมาใช้ในการผลิตในอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคมีต้นทุนแพกเกจจิ้งสูงขึ้น และสุดท้ายจะต้องผลักภาระไปที่ผู้บริโภค ทำให้ต้องมีการปรับขึ้นราคาสินค้าเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการได้พิจารณาถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น และมองว่าเป็นปัญหาที่หนัก แต่ด้วยความที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม การจะผลักภาระไปให้ผู้บริโภคในช่วงที่ประเทศยังมีวิกฤตโควิด-19 หรือปัญหาทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดีในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก จึงต้องการที่จะขอเข้าพบและชี้แจงประเด็นปัญหาและผลกระทบ ทั้งในเชิงลึก เชิงกว้าง เพื่อให้รัฐมนตรีได้มีข้อมูลที่จะนำไปใช้ในการตัดสินใจเพื่อใช้มาตรการ AD และ SG ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า กลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้ฟอยล์อะลูมิเนียมยังได้มอบให้ตัวแทนทำหนังสือถึงกรมการค้าต่างประเทศเพื่อชี้แจงผลกระทบจากการใช้มาตรการ SG กับสินค้าฟอยล์อะลูมิเนียมด้วย โดยได้ชี้ให้เห็นว่าผู้ผลิตที่มีอยู่ในประเทศ 2 รายมีกำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ และผลิตได้ไม่ตรงตามที่อุตสาหกรรมใช้ ทำให้ต้องมีการนำเข้าในส่วนที่ผลิตไม่ได้ หากมีการใช้มาตรการ SG จะกระทบต่ออุตสาหกรรม และกระทบต่อเนื่องทำให้ต้นทุนผลิตสินค้าสูงขึ้น ราคาสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงขอให้ละเว้นการใช้มาตรการ SG และมาตรการชั่วคราว พร้อมกับได้ส่งหนังสือยืนยันว่าผู้ผลิตในประเทศ 1 รายได้ขอถอนเรื่องการฟ้องให้ใช้มาตรการ SG แล้ว เพราะเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น