xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.สผ.อัดงบลงทุน 5 ปี 2.36 หมื่นล้านดอลล์ ชี้ปี 64 ปริมาณขายแตะ 3.75 แสนบาร์เรล/วัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปตท.สผ.ตั้งงบลงทุน 5 ปี (64-68) อยู่ที่ 23,637 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปีหน้ามีงบลงทุน 4,196 ล้านเหรียญสหรัฐ รองรับการลงทุนต่างๆ รวมทั้งแสวงหาโอกาสลงทุนธุรกิจใหม่ พร้อมตั้งเป้าปริมาณการขายปิโตรเลียมปี 64 อยู่ที่ 3.75 แสนบาร์เรล/วัน

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)(PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัทฯ จัดสรรงบประมาณสำหรับแผนลงทุน 5 ปี (ปี 2564-68) รวม 23,637 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 734,845 ล้านบาท) และประมาณการอัตราการเติบโตของปริมาณการขายโดยเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (Compound Annual Growth Rate : CAGR) ในช่วง 5 ปี ที่ประมาณ 6% โดยปี 2564 ตั้งเป้าปริมาณการขายที่ 375,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน และปีถัดไปอยู่ที่ 436,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน

ทั้งนี้ แผนการลงทุนปีหน้าและแผนการลงทุน 5 ปียังคงรักษากำลังการผลิตจากโครงการหลัก พร้อมเร่งพัฒนาโครงการสำคัญเพื่อเริ่มการผลิตให้ได้ตามแผนที่วางไว้ รวมถึงกิจกรรมการสำรวจเพื่อการเติบโตในระยะยาว พร้อมแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่

สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 อยู่ที่ระดับ 4,196 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 132,174 ล้านบาท) แบ่งเป็น รายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure : CAPEX) จำนวน 2,588 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 81,522 ล้านบาท) และรายจ่ายดำเนินงาน (Operating Expenditure : OPEX) จำนวน 1,608 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 50,652 ล้านบาท) เพื่อรองรับแผนงานหลัก ดังนี้

1. รักษาปริมาณการผลิตจากโครงการผลิตหลักที่สำคัญ ได้แก่ โครงการเอส 1 โครงการบงกช โครงการอาทิตย์ โครงการในประเทศมาเลเซีย และโครงการซอติก้าในประเทศพม่า รวมถึงเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินการโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ) และโครงการจี 2/61 (แหล่งบงกช) โดยได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนจำนวน 1,943 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 61,204 ล้านบาท)

2. เพิ่มปริมาณการผลิตในอนาคต โดยมุ่งเน้นและผลักดันโครงการหลักที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา ได้แก่ โครงการโมซัมบิก แอเรียวัน และโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ให้สามารถเริ่มการผลิตได้ตามแผน และเร่งการพัฒนาโครงการมาเลเซีย ซาราวัก เอสเค 410 บี ซึ่งประสบความสำเร็จในการเจาะสำรวจเมื่อปลายปีที่แล้ว ให้สามารถเข้าสู่ขั้นตอนของการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision : FID) โดยบริษัทได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนในส่วนนี้เป็นจำนวนเงิน 493 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 15,530 ล้านบาท)

3. เร่งกิจกรรมการสำรวจเพื่อค้นหาทรัพยากร รองรับการเติบโตในระยะยาว โดยได้จัดสรรรายจ่ายลงทุน จำนวน 152 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 4,788 ล้านบาท) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายในการเจาะหลุมสำรวจและประเมินผลสำหรับโครงการสำรวจในประเทศมาเลเซีย และประเทศเม็กซิโก

“ปี 64 ยังคงเป็นปีที่ท้าทายสำหรับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีผลโดยตรงต่อความต้องการใช้พลังงานและราคาน้ำมัน ที่ผ่านมา ปตท.สผ.มีการปรับตัวทั้งในส่วนของโครงสร้างองค์กรและการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดต้นทุนโดยรวม เพื่อให้บริษัทมีความแข็งแกร่งพร้อมรับกับความผันผวน ในปีนี้เราได้ทบทวนแผนการลงทุน 5 ปีภายใต้กลยุทธ์ Execute and Expand ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีการผลิตที่สามารถตอบสนองความต้องการพลังงานของประเทศและยังเติบโตได้ และด้วยโครงสร้างการเงินที่แข็งแกร่ง ประกอบกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในแต่ละปีจะสามารถรองรับแผนการลงทุนดังกล่าว รวมทั้งโอกาสทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตแม้ในสถานการณ์ราคาน้ำมันตกต่ำ” นายพงศธรกล่าว

ทั้งนี้ ปตท.สผ.ยังให้ความสําคัญต่อการปรับตัวเพื่อพร้อมรับมือกับสภาพการดําเนินธุรกิจสํารวจและผลิตปิโตรเลียมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยศึกษาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ เช่น การพัฒนาโครงการ Gas to Power ในประเทศพม่า เพื่อต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่แหล่งก๊าซธรรมชาติที่บริษัทมีการลงทุนอยู่แล้ว และการขยายธุรกิจ AI & Robotics Venture (ARV) รวมถึงการแสวงหาโอกาสการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียน


กำลังโหลดความคิดเห็น