ทช.ร่วมกับ ปตท.สผ. ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการอนุรักษ์ทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for Life) เดินหน้าแผนระยะยาว 10 ปี มุ่งเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพท้องทะเลไทย และสร้างรายได้ให้ชุมชนรอบอ่าวไทย
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือ ทช. ร่วมกับ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการอนุรักษ์ทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for Life) ในวันอังคารที่ 1 ธันวาคม 2563 ณ ห้องประชุมลำแพน ชั้น 9 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยมีนายโสภณ ทองดี (ที่ 3 จากขวา) อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และนายพงศธร ทวีสิน (ที่ 2 ขากขวา) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. เป็นผู้ลงนาม พร้อมกันนี้ได้มีคณะผู้บริหารจากทั้ง 2 หน่วยงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน
สำหรับการดำเนินการภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้
เป็นแผนระยะยาว 10 ปี ตั้งแต่ปี 2563 – 2573 เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ
ส่งเสริมให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรท้องทะเลไทย และเพิ่มรายได้แก่ชุมชนใน
17 จังหวัดรอบอ่าวไทย โดยมีแผนการดำเนินงานการอนุรักษ์ทะเลเพื่อชีวิต หรือOcean for Life ซึ่งครอบคลุมการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลหลายด้าน
ได้แก่ การบริหารจัดการขยะทะเล การป้องกันขยะลงสู่ทะเลด้วยการสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนทั่วไปให้ตระหนักถึงความสำคัญของทะเล
และการใช้เทคโนโลยี เข้ามาช่วยในการกำจัดขยะและแปรรูปขยะเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่
การปลูกและฟื้นฟูป่าชายเลนให้สามารถเป็นแหล่งอนุบาล สัตว์น้ำ
ชายฝั่งและระบบนิเวศที่มีความสมบูรณ์
การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์วิถีประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน
และการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ทะเลหายาก
การจัดทำแนวเขตอนุรักษ์และเพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลบริเวณชายฝั่ง
หรือบ้านปลา เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพและปริมาณสัตว์น้ำ และรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล
และการสนับสนุนการผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลแปรรูปที่มีคุณภาพและมาตรฐาน
รวมถึงการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อการตรวจติดตามสุขภาพของมหาสมุทรและความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการอนุรักษ์ทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for life) ว่า ภารกิจหลักของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คือการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อความมั่งคั่ง สมดุล และยั่งยืนของทะเลไทย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ แต่ด้วยพื้นที่ทางทะเลกว่า 202 ล้านไร่ ป่าชายเลนกว่า 2.58 ล้านไร่ เกาะกว่า 533 เกาะ และชายฝั่งความยาวกว่า 3,151 กิโลเมตร จำเป็นต้องหาพันธมิตรที่มีอุดมการณ์ ความพร้อม และมีความตั้งใจที่จะอนุรักษ์ ดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มาร่วมกันปฏิบัติงาน ซึ่งบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เป็นบริษัทชั้นนำด้านการผลิตและสำรวจปิโตรเลียมในประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่ดีมาโดยตลอด จึงได้ร่วมหารือแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน และตกลงลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการอนุรักษ์ทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for life) ซึ่งจะร่วมกันดำเนินงานโครงการ/กิจกรรม เป็นระยะเวลา 10 ปี ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ ปตท.สผ. จะได้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์ทะเลเพื่อชีวิตต่อไป
ด้าน นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. กล่าวว่า “ปตท.สผ. มีภารกิจหลักในการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ โดยพื้นที่ปฏิบัติการส่วนใหญ่ของ ปตท.สผ. อยู่ในทะเล ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของเราที่ต้องช่วยกันดูแลและปกป้อง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปตท.สผ. มีการดำเนินกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ในการอนุรักษ์ท้องทะเลหลายโครงการ โดยได้ร่วมมือกับชุมชน หน่วยงานราชการส่วนกลางและท้องถิ่นและทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เช่น โครงการศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปู โครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล และโครงการแหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ทะเล เป็นต้น ซึ่ง ปตท.สผ. มีความยินดีอย่างยิ่งที่แนวทางการอนุรักษ์ทะเลเพื่อชีวิต หรือ Ocean for Life ได้รับการสนับสนุนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพให้กับทะเลไทยอย่างยั่งยืน รวมทั้ง ยังเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาวให้กับชุมชนรอบชายฝั่งซึ่งเป็นเหมือนเพื่อนบ้านของเราอีกด้วย”
สำหรับพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินงานในครั้งนี้ ได้แก่ พื้นที่ 17 จังหวัดรอบอ่าวไทย ได้แก่ จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช ปัตตานี สุราษฎร์ธานี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นราธิวาส รวมทั้ง กรุงเทพมหานคร ซึ่งการดำเนินงานในครั้งนี้ ยังสอดคล้องกับเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ SDG 14 Life Below Water การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและมหาสมุทรอย่างยั่งยืนอีกด้วย