xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” รุกใช้ AI ช่วยผู้ส่งออกแสวงหาโอกาสค้าขายต่างประเทศ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเปิดตัว DITP Business AI ช่วยผู้ส่งออกแสวงหาโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศ เผยสามารถรู้โอกาสในการทำตลาด และความเสี่ยง นำร่อง 15 สินค้า ก่อนขยายเพิ่มในอนาคต เตรียมลุยขับเคลื่อน จับมือ สวทช.ชี้ช่องให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในการสนับสนุน คิวต่อไปร่วมมือเพิ่มโอกาสให้สมาชิกสภาหอฯ ส.อ.ท. และสมาคมการค้าต่างๆ

นายพรวิช ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการสำนักสารสนเทศและการบริการการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อแสวงหาโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศ (DITP Business AI) เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกของไทยในการนำข้อมูลการค้าที่มีอยู่จำนวนมหาศาล (Big Data) มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำธุรกิจส่งออก หรือใช้ในการทำการค้าระหว่างประเทศ โดยจะเริ่มเปิดตัวใช้ระบบในเร็วๆ นี้ และมั่นใจว่าจะเป็นมิติใหม่ในการช่วยผู้ประกอบการไทยในการทำตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศ ที่จะสามารถรู้ข้อมูลและนำมาใช้ในการวางแผนได้

สำหรับระบบ DITP Business AI จะมีการนำข้อมูล Big Data ด้านการค้าระหว่างประเทศจากแหล่งข้อมูลเชิงโครงสร้าง (Structured Data) และแหล่งข้อมูลไร้โครงสร้าง (Unstructured Data) เช่น ข้อมูลข่าวสารด้านการค้าระหว่างประเทศ ข้อมูลสถิติการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก ข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศทั่วโลก ข้อมูลความต้องการสินค้าที่ซื้อขายในระบบอีคอมเมิร์ซ ข้อมูลแนวโน้มความต้องการสินค้าจากทูตพาณิชย์ทั่วโลก 58 แห่ง แล้วนำมาวิเคราะห์ผ่านระบบ AI ก่อนที่จะประเมินออกมาว่ามีโอกาสทางการค้าอยู่ตรงไหน อย่างไร ตลาดไหนที่มีโอกาส หรือมีความเสี่ยงตรงไหน

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจะนำร่องสินค้าที่เป็นตัวหลักในการส่งออก หรือเป็นสินค้าที่นโยบายให้ความสำคัญก่อนประมาณ 15 รายการ ได้แก่ ข้าว น้ำผลไม้ ทุเรียน มังคุด ลำไย มะม่วง ลิ้นจี่ ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน อัญมณีแท้ เครื่องประดับแท้ เสื้อผ้าสำเร็จรูป สมุนไพร (น้ำมันหอมระเหย) และจากนั้นจะขยายรายการสินค้าให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มของสินค้าอุตสาหกรรม

นายพรวิชกล่าวว่า กรมฯ จะนำร่องเปิดตัวใช้ระบบ DITP Business AI ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ปัจจุบันมีการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการสนับสนุนให้มีการยกระดับการผลิต หรือนำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตสินค้าผ่านโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการกลุ่มแรกที่จะได้ใช้ประโยชน์ จากนั้นจะนำผลตอบรับมาวิเคราะห์หรือปรับปรุงระบบให้ดียิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการ

ส่วนในระยะต่อไป กรมฯ มีแผนที่จะขยายการใช้งานให้เข้าถึงกลุ่มผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น เช่น ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาชิกของสมาคมการค้าต่างๆ โดยจะเน้นในกลุ่มสินค้าที่ได้นำระบบ AI มาวิเคราะห์ก่อนเพราะคงไม่ได้ทุกกลุ่มสินค้า แต่ในอนาคตจะเพิ่มจำนวนการวิเคราะห์ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้า ซึ่งเป็นเป้าหมายที่จะดำเนินการ


กำลังโหลดความคิดเห็น