xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวต่อไปของเกษตรกร เลิกอาชีพ25% หากไร้สารพาราควอต

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2563 ฉลองครบรอบ 43 ปี จัดเสวนา “ก้าวต่อไปอย่างไร เมื่อเกษตรกรไทยไร้พาราควอต” นำโดยกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง ทุเรียน และผักปลอดสารพิษ พร้อมแนะทางออกรัฐแก้ปัญหาให้ถูกจุด ลดต้นทุนการผลิต ย้ำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ คุยกันก่อนออกนโยบาย หยุดเปลี่ยนโอกาสเป็นวิกฤต หักแขนขาเกษตรกร 
ดร. จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า รอบปีที่ผ่านมา ประเด็นสารกำจัดวัชพืช พาราควอต ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรมากที่สุด เนื่องจากเป็นประเด็นถกเถียงถึงความอันตรายของสารดังกล่าว ว่าเป็นจริงหรือไม่ จึงได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในหลายด้านและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นในสาธารณชนในหลายด้าน ได้แก่ การตกค้างของพาราควอต กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงแล้วว่า ไม่พบการตกค้างในพืช ผัก ผลไม้ ประเด็นโรคเนื้อเน่า ได้ตรวจสอบไม่พบพาราควอต แต่พบแบคทีเรียเป็นเหตุของโรคดังกล่าว ประเด็นการพบพาราควอตในขี้เทาทารก ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนในกระบวนการวิจัย เช่นเดียวกับ การพบพาราควอตในเห็ด ไม่มีบทสรุปทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน เป็นต้น 
นอกจากนี้ ได้จัดทำแบบสำรวจเกษตรกรทั่วประเทศ ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2563 ในหัวข้อ ผลกระทบหลังห้ามการใช้พาราควอต พบว่า ร้อยละ 94.7 ไม่เห็นด้วยกับการแบนพาราควอต ร้อยละ 91 ไม่เห็นด้วยกับการแบนเพราะไม่มีสารทดแทนเทียบเท่าทั้งด้านราคาและประสิทธิภาพ ประเด็นที่น่าสนใจ ร้อยละ 25 จะเลิกประกอบอาชีพเกษตรกร หากไม่มีสารเคมีที่ใช้ทดแทนพาราควอต เหตุส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงมากกว่า 3 เท่า ร้อยละ 54 ส่วนที่เหลือ ร้อยละ 46 กระทบต่อต้นทุน 1-2 เท่า ทั้งนี้ เมื่อเทียบสัดส่วนเกษตรกรทั่วประเทศที่ปลูกพืชประมาณ 5 ล้านราย อาจเลิกทำเกษตรกรรมสูงถึง 1.25 ล้านราย ในปีหน้า 


ด้านนายนิโรจน์ แสนไชย เกษตรกรดีเด่นปี พ.ศ. 2563 เจ้าของสวนลำไย จังหวัดลำพูน กล่าวว่า ปัญหาหลักปัจจุบัน ต้นทุนสูงมาก แข่งขันไม่ได้ในตลาด แม้รัฐบาลจะช่วยเหลือด้วยการประกันราคาสูงสุดกิโลกรัมละ 40 บาท แต่เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น ทั้งนี้ ได้พยายามดำเนินการตามแนวทางที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำ และศึกษาเพิ่มเติม ยังไม่พบวิธีการที่จะช่วยจัดการปัญหาวัชพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สารเคมีเกษตรอื่น ๆ ต้องพ่นซ้ำหลายครั้ง ทำให้ต้นทุนยาสูง กลูโฟซิเนตที่แนะนำก็ไม่สามารถกำจัดได้ ส่วนเครื่องจักรใช้อยู่แล้วทุกวัน แต่ไม่สามารถกำจัดวัชพืชโคนต้นได้ ที่สำคัญ เคยไปดูงานที่ออสเตรเลีย ประเทศที่เจริญแล้ว เขาก็แนะนำให้ใช้พาราควอตในการกำจัดวัชพืช

“นโยบายรัฐสวนทางกับความจริง ปัจจุบัน เกษตรกรก้าวสู่ความยากจนและล้มละลาย” นายภมร ศรีประเสริฐ และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังโคราช กล่าวเสริมว่า แผนงานของกระทรวงพาณิชย์สวยหรู ราคาขายสินค้าเกษตรจะสูง แต่ในทางปฎิบัติจริง ต้นทุนเกษตรกรสูง แล้วจะขายได้อย่างไร ใครจะมาซื้อ ยกตัวอย่าง ต้นทุนมันสำปะหลังใช้พาราควอต 1 กิโลกรัม อยู่ที่ 1.90 บาท ราคาขายปัจจุบัน 1 กิโลกรัม อยู่ที่ 2.10 บาท แต่หากไม่ใช้พาราควอต ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 กิโลกรัม อยู่ที่ 3.10 บาท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งออกไปต่างประเทศมีคู่แข่งหลายประเทศเข้าสู่ตลาดโลก อาทิ เวียดนาม อินโดนีเซีย พม่า ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทยมาก ทำให้แข่งขันไม่ได้ ปัจจุบัน ไทยต้องรอเวียดนามส่งออกผลผลิตจากมันสำปะหลังหมดเสียก่อน ไทยจึงจะขายได้ และตอนนี้ อินโดนีเซียกำลังจะเพิ่มการผลิตมันสำปะหลัง หั่นราคาต่ำลง แล้วไทยจะไปแข่งขันได้อย่างไร จึงอยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พิจารณาแผนยุทธศาสตร์ใหม่ มันสำปะหลังราคาสูง แต่ขายใครไม่ได้ ต้องหันมาลดต้นทุนการผลิต และไปปรึกษากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อน จะทำให้อย่างไรให้ต้นทุนเกษตรกรลดลง ไม่ใช่สนับสนุนให้ปลูกจนล้นตลาด แล้วขายไม่ได้ หยุดเปลี่ยนโอกาสเป็นวิกฤตเสียที

นายสุรวุฒิ ศรีนาม เกษตรกรปลูกผักแบบเกษตรปลอดภัย GAP หรือเกษตรกรรมที่สามารถใช้สารเคมีเป็นปัจจัยการผลิตได้ โดยมีการควบคุมตามมาตรฐานสากล กล่าวเสริมว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผลิตและส่งออกผักไปยังต่างประเทศ ยังไม่เคยพบปัญหาการพบพาราควอตตกค้างในผลผลิตเลย โดยปกติ จะใช้พาราควอตในการกำจัดวัชพืชในแปลงก่อนการเพาะปลูก เมื่อต้นโต จะฉีดในร่องเพาะปลูก เมื่อไม่มีพาราควอต ได้ทดลองใช้แรงงานคนมากำจัดด้วยการถอนและใช้จอบ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงมาก บางสวน ใช้แรงงานคนแล้ว ปรากฎจอบขุดหญ้าไปกระทบรากต้นพริก ทำให้พริกตายทั้งสวนก็มี ล่าสุด พม่าได้เข้ามาแข่งขันส่งพริกในตลาดโลก ตัดราคาพริกไทย เพราะค่าแรงในพม่าต่ำมากในการเก็บพริก 1-2 บาทต่อกิโลกรัม แต่ประเทศไทยค่าแรงเก็บพริกสูงถึง 7-10 บาทต่อกิโลกรัม จึงอยากฝากรัฐบาล ภายใต้การแข่งขันในตลาดโลกที่ดุเดือด หยุดรังแก หักแขน หักขาเกษตรกร ด้วยการปล่อยให้คนไม่รู้เรื่องออกมาพูด มาจัดการปัจจัยการผลิตของเกษตรกรไทย

ดร. จรรยา มณีโชติ กล่าวสรุปว่า การแบนพาราควอต ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการแข่งขันของเกษตรกร อาจขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 73 ซึ่งระบุว่า “รัฐพึงจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง มีความปลอดภัย โดยใช้ต้นทุนต่ำ และสามารถแข่งขันในตลาดได้ และพึงช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากไร้ให้มีที่ทำกินโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่นใด” จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้งให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้พาราควอต เช่นเดียวกับหลายประเทศที่เจริญแล้วยังใช้กันอยู่ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น รวมทั้ง ในปีหน้าเตรียมจัดตั้ง มูลนิธิเกษตรเข้มแข็ง เป็นกระบอกเสียงให้เกษตรกว่า 30 ล้านราย เพื่อดำเนินการต่อสู้ ช่วยเหลือและเรียกร้องในประเด็นต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต.


กำลังโหลดความคิดเห็น