“สุริยะ” เผยโครงการรถเก่าแลกรถใหม่ยังต้องรอสรุปรายละเอียดที่ชัดเจนอีกครั้ง คาด “สุพัฒนพงษ์” จะเร่งเดินหน้าเพื่อที่รัฐบาลจะมอบเป็นของขวัญปีใหม่แก่คนไทย
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ หรือ ศบศ. ได้เห็นชอบแนวทางสนับสนุนการเปลี่ยนรถยนต์เก่าเป็นรถยนต์ใหม่ หรือ "โครงการรถเก่าแลกรถใหม่" ว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดและหลักเกณฑ์ให้เป็นรูปธรรมซึ่งต้องหารือกับค่ายรถยนต์ต่างๆ ซึ่งคาดว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ จะเร่งรัดโครงการนี้ออกมาให้ทันเป็นของขวัญปีใหม่นี้
“รายละเอียดจะเป็นอย่างไรคงต้องรอเวลาอีกระยะหนึ่งที่หน่วยงานต่างๆ กำลังจัดทำ จึงยังสรุปไม่ได้ว่าการแลกรถใหม่นั้นจะต้องเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ทั้งหมดหรือไม่อย่างไร แต่เชื่อว่าโครงการนี้น่าจะเกิดขึ้นแน่นอนเพราะนายสุพัฒนพงษ์ดูแลกระทรวงการคลังอยู่แล้วน่าจะสามารถเดินหน้าได้” นายสุริยะกล่าว
ทั้งนี้ หากมองในระยะต่อไปรถอีวีเป็นเทรนด์ที่มาอย่างแน่นอนเพราะลดมลพิษทางอากาศได้มากกว่าเครื่องยนต์สันดาป โดยขณะนี้ทราบว่าทางผู้บริหารเทสล่า ผู้ผลิตรถอีวีรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาต้องการมาหารือถึงการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยกับกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้กำลังนัดวันและเวลาที่จะเข้ามาหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) อีกครั้ง
นายสุริยะยังแสดงปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “มุมมองใหม่ของอุตสาหกรรมไทย หลังสถานการณ์โควิด-19” ในงาน สศอ. (OIE FORUM) พ.ศ. 2563 จัดขึ้นในหัวข้อ New Perspective of Thailand Industry มองมุมกลับ ปรับมุมคิด พลิกวิกฤตอุตสาหกรรมไทย พร้อมกล่าวว่า โควิด-19 เป็นทั้งวิกฤตและโอกาสของภาคอุตสาหกรรมไทย โดยพบว่าอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อาหารและสินค้าที่เกี่ยวกับการรักษาและป้องกันโรค ทั้งเครื่องมือแพทย์และสิ่งทอทางการแพทย์ (Medical Textile) เป็นดาวเด่นที่การส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และการที่ไทยควบคุมโควิด-19 ทำให้สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน และเชื่อว่าจากนี้ไปจะค่อยทยอยฟื้นตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมเองต้องปรับให้สอดรับกับทิศทางโลกที่เปลี่ยนไป โดยนำนวัตกรรมดิจิทัล ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติมาบริหารจัดการให้มากขึ้นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์และตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal รวมถึงต้องยกระดับไปสู่โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy)” นายสุริยะกล่าว