รฟม.คงมาตรการลดค่าโดยสารสายสีม่วงยาว เผยตุน 400 ล้านอุดหนุนส่วนต่างไม่กระทบ ส่วนสีน้ำเงิน 1 ม.ค. 64 ปรับขึ้น 1 บาทตามสัญญา หลัง BEM ช่วยตรึง 6 เดือน ล่าสุดผู้โดยสารสีม่วง และน้ำเงินยังต่ำเป้า
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม.จะยังดำเนินมาตรการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) เริ่มต้นที่ 14 บาท และจ่ายสูงสุด 20 บาทตลอดสาย จากอัตราปกติสูงสุด 42 บาท เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระให้ประชาชนจากผลกระทบจากโรคโควิด-19 ต่อไป ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง และยังไม่มีความจำเป็นต้องเสนอขอรับการอุดหนุนจากรัฐบาล เนื่องจากงบประมาณในปี 2563 มีเงินปลอดภาระผูกพันที่ไม่มีรายจ่ายอื่นเพิ่มขึ้นประมาณ 400 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาใช้อุดหนุนมาตรการลดค่าครองชีพในปี 2564 ได้
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ยังมีมติเห็นชอบยกเว้นค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงในปี 2564 ใน 5 วันที่มีกิจกรรมพิเศษเฉพาะกลุ่ม ได้แก่ วันเด็ก วันผู้สูงอายุ วันแม่แห่งชาติ วันพ่อแห่งชาติ และวันปลอดรถ หรือคาร์ฟรีเดย์ โดยผู้ได้รับการยกเว้นค่าโดยสารจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด
@ 1 ม.ค. 64 ปรับค่าโดยสารสีน้ำเงิน 1 บาท ตามสัญญา
สำหรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 จะมีการจัดเก็บอัตราใหม่ เริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุด 42 บาท โดยสถานีที่ 1, 4, 7 และสถานีที่ 10 จะมีอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 1 บาทตามวิธีการในสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน กำหนดให้มีการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารใหม่ทุกๆ ระยะเวลา 24 เดือน (2 ปี) โดยพิจารณาตามดัชนีผู้บริโภค (CPI)
บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ได้ร่วมแบ่งเบาภาระประชาชนในช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยคงอัตราค่าโดยสารเดิมไว้ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563
ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามลำดับ แต่ยังไม่เท่าช่วงเกิดโรคโควิด-19 นอกจากนี้ ยังคงมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อยู่ด้วย โดยปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง ปัจจุบันวันธรรมดามีเฉลี่ย 66,000-70,000 เที่ยว-คน/วัน วันศุกร์จะเฉลี่ยที่ 70,000 คน วันเสาร์ อาทิตย์ มีเฉลี่ย 35,000 เที่ยว-คน
ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน วันธรรมดามีผู้โดยสารเฉลี่ย 360,000 เที่ยว-คน วันศุกร์ ประมาณ 380,000 เที่ยว-คน ส่วนวันเสาร์ อาทิตย์ เหลือประมาณ 210,000 เที่ยว-คน
ทั้งนี้ ถือว่าปริมาณผู้โดยสารของสายสีน้ำเงินยังต่ำกว่าประมาณการมาก เนื่องจากปัจจุบันมีการเปิดให้บริการส่วนต่อขยายครบแล้ว การเดินรถเป็นวงกลม ระยะทางรวม 48 กม. ซึ่งคาดว่าสายสีน้ำเงินจะมีผู้โดยสารที่ 600,000 เที่ยว-คน/วัน