xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” ยัน “อาร์เซ็ป” ช่วยเพิ่มโอกาสส่งออกเกษตร-อาหาร-สินค้าอุตสาหกรรม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“จุรินทร์” ยัน “อาร์เซ็ป” ช่วยเพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร แถมดันไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับ 1 ของโลกได้ เผยยังช่วยเพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม บริการ ลงทุน แนะผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวใช้ประโยชน์และรับมือผลกระทบ เตรียมดันเข้ารัฐสภาสมัยนี้เพื่อให้สัตยาบัน คาดจะมีผลบังคับใช้กลางปีหน้า
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการปาฐกถาพิเศษในงาน “การประกาศความสําเร็จการเจรจา RCEP” (Kick off RCEP) ที่กระทรวงพาณิชย์ว่า ความตกลงอาร์เซ็ปจะทำให้ไทยได้ประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งเรื่องการส่งออกสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน โดยเฉพาะการสนับสนุนสินค้าของไทยที่มีจุดแข็งอย่างสินค้าเกษตรให้สามารถบุกตลาดอีก 14 ประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นพืชผลทางการเกษตร มันสำปะหลัง แป้งมัน ยางพารา สินค้าประมง ตลอดจนกลุ่มอาหารจะเป็นอีกหมวดสำคัญที่ได้รับประโยชน์เต็มที่ซึ่งช่วยสนับสนุนวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการผลักดันอาหารไทยเป็นอาหารโลก และทำให้ไทยก้าวสู่เป็นผู้นำการส่งออกอาหารอันดับต้นๆ และอันดับหนึ่งของโลกได้ จากปัจจุบันที่อยู่อันดับ 11 ของโลก
สำหรับสินค้าอุตสาหกรรม อาร์เซ็ปจะช่วยผลักดันการส่งออก โดยเฉพาะอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย มอเตอร์ไซค์ รวมถึงภาคบริการและการลงทุน และยังจะช่วยให้ไทยสามารถทำตัวเลขทางการค้าการลงทุน โดยเฉพาะก่อสร้าง และธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ รวมถึงเรื่องภาพยนตร์บันเทิง แอนิเมชัน และการทำคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับภาคบริการ ที่มีศักยภาพขึ้นมาในระดับโลกได้ รวมทั้งก่อให้เกิดความร่วมมือเรื่องใหม่ เช่น เรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออีคอมเมิร์ซ การแข่งขันทางการค้า ตลอดจนการส่งเสริมการคุ้มครองดูแลเอสเอ็มอี และความร่วมมือในการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ
“ไทยต้องเร่งเตรียมตัว เพราะมีเวลาอีกไม่เกิน 6 เดือนถึง 1 ปี จึงจำเป็นต้องปรับตัวรองรับข้อตกลงที่เปลี่ยนแปลงไปบางส่วนและข้อตกลงใหม่ที่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ รวมถึงเร่งศึกษากฎระเบียบ โดยกระทรวงพาณิชย์พร้อมจะเข้าไปดูแลให้ข้อมูล เพื่อให้ภาคเอกชนปรับตัวและใช้ประโยชน์ได้ และหลังจากนี้ ทั้ง 15 ประเทศต้องทำ 2 เรื่อง คือ การทำให้อินเดียมีโอกาสเข้ามาร่วมมือในอาร์เซ็ปในอนาคต หลังจากมีการพักเจรจาชั่วคราว ขณะเดียวกันทุกประเทศต้องเร่งให้สัตยาบัน เพื่อความตกลงมีผลบังคับใช้ ซึ่งในส่วนอาเซียนต้องให้สัตยาบันเกิน 6 ประเทศ บวกกับประเทศที่เหลืออีก 3 ประเทศอย่างน้อย คาดว่าน่าจะบังคับใช้ได้กลางปีหน้า” นายจุรินทร์กล่าว
ส่วนการให้สัตยาบันของไทย ขณะนี้ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว และจะเร่งผลักดันนำวาระการลงนามอาร์เซ็ปเสนอเข้ารัฐสภา เพื่อให้พิจารณาได้ทันประชุมสมัยนี้ ซึ่งเริ่มประชุมเปิดระหว่างเดือน พ.ย. 2563-ก.พ. 2564 หากผ่านความเห็นชอบ ก็จะเข้าสู่กระบวนให้สัตยาบันร่วมกับประเทศอื่น ซึ่งไทยน่าจะเป็นประเทศแรกๆ ที่ให้สัตยาบัน ส่วนปัญหาการเมืองขณะนี้ไม่กระทบต่อการเดินหน้ากระบวนการให้สัตยาบันอาร์เซ็ป เนื่องจากเชื่อว่าทุกฝ่ายจะเห็นต่อผลประโยชน์ส่วนรวม เพราะหากไม่สำเร็จก็จะส่งผลกระทบทางการค้าของไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น