ภาคเอกชนร่วมขับเคลื่อนสร้างความยั่งยืน โดยเฉพาะมิติด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ไขวิกฤตโลกร้อนเร่งด่วน “ศุภชัย” ชี้ต้องเริ่มจากการตระหนักรู้ ปักหมุด CP เป็นองค์กรลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็น 0 ปี 2573 ขณะที่ “ส.อ.ท.” เร่งขับเคลื่อน ศก.หมุนเวียน สภาหอฯ ดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสมาคมเครือข่ายโกลบอล คอมแพ็ก ประเทศไทย และประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา ‘ภาคธุรกิจไทยในวิถียั่งยืน’ ภายใต้หัวข้อพิเศษ ‘วิถียั่งยืนชุบชีวิตธุรกิจ-สังคม’ ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ ‘ประชาชาติธุรกิจ’ ว่า การขับเคลื่อนวิถีเศรษฐกิจยั่งยืนต้องเริ่มจากการตระหนักรู้ เพราะหากองค์กร ผู้นำ พนักงานไม่เกิดการตระหนักรู้ก็จะไม่เกิดการเริ่มต้นโครงการแก้ไข รักษาสิ่งแวดล้อม โดยในส่วนของกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ได้ตั้งเป้าหมายให้เป็นองค์กรลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ในปี 2573
“หลายๆ เวทีระดับโลกบอกว่าแนวทางการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแก้ได้ด้วยภาคเอกชน ตอนแรกผมไม่เชื่อ แต่ท้ายสุดต้องยอมรับว่าการแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืนต้องถูกแก้ด้วยภาคเอกชนจริงๆ เพราะเป็นองค์กรที่มีความต่อเนื่อง มากกว่ารัฐบาลที่มีการเมือง การเลือกตั้ง มีการปรับเปลี่ยนนโยบายไปตามรัฐบาลในแต่ละสมัย” นายศุภชัยกล่าว
ทั้งนี้ CP ได้จัดตั้งสำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชนเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่จังหวัดน่านขึ้นเป็นแห่งแรก เพื่อเป็นศูนย์รวมของความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการเริ่มโครงการ ‘Sustainable Coffee’ เพราะที่น่านมีปัญหาชลประทานต้นทุนขนส่งสูง จึงต้องหาพืชที่เหมาะ ซึ่งการทำกาแฟจะมีมูลค่าเพิ่มเพราะต่อยอดไปได้หลายอย่างที่จะทำให้เกิดการจ้างงานและยกระดับคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจชุมชน
นายศุภชัยกล่าวว่า ความยั่งยืนที่มองนั้นมี 3 เรื่องหลักๆ คือ สิ่งที่เกี่ยวกับบ้านของเรา นั่นคือโลกที่กำลังร้อนขึ้นจากอุณหภูมิที่สูง ซึ่งโลกก็คือประเทศไทยด้วย ทุกส่วนจึงต้องเร่งรักษาบ้าน เรื่องนี้ต้องให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะหากอุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียสสิ่งมีชีวิตกว่า 3.2 หมื่นสปีชีส์จะเสี่ยงสูญพันธุ์ 2. ลดความเหลื่อมล้ำ 3. การศึกษา หากร่วมมือทำก็จะทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อมยั่งยืนได้ CP เองก็มีเป้าหมายชัดเจนลดโลกร้อน โดยจะทำในหลายๆ เรื่อง และต่อไปจะเน้นลงทุนและใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy คือแนวทางที่ภาคเอกชนต้องเดินเพราะถือเป็นความยั่งยืนของธุรกิจระยะยาวซึ่ง ส.อ.ท.ได้ร่วมโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาขยะและพลาสติกอย่างยั่งยืน หรือ ‘PPP Plastic’ ที่ตั้งเป้าหมายนำขยะพลาสติกกลับมารีไซเคิล 100% ในปี 25
“เรามีสถาบันที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน เช่น สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม ฯลฯ ที่จะมุ่งแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งขยะพลาสติก ขยะอาหาร และขยะอิเล็กกทรอนิกส์ ได้เริ่มจับมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมในการผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยร่วมส่งเสริมให้โรงงานสมาชิกเข้าร่วมเป็นโรงงานนำร่องในการใช้มาตรฐาน Circular Economy” นายสุพันธุ์กล่าว
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของความยั่งยืน คือทุกคนต้องมีส่วนร่วม มองผลประโยชน์ส่วนรวม เช่น PM 2.5 เป็นเรื่องของทุกคน ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน เช่น การแก้ไขปัญหามลพิษ โดยรัฐควรมีมาตรการสนับสนุนประกอบด้วย ล่าสุด เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว หอการค้าฯ เสนอ พ.ร.บ.อากาศสะอาดไปยังรัฐบาล โดย นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือแล้ว
“โจทย์สำคัญของประะทศคือ บริหารจัดการน้ำ ทุกภาคส่วนควรเก็บกักน้ำเพิ่มจาก 10% เป็น 20% เพื่อแก้ไขวิกฤตน้ำในระยะสั้น ขณะที่ในระยะยาวต้องรณรงค์ให้ทุกคนใส่ใจสิ่งแวดล้อม ปลูกป่า โดยระหว่างทางสำคัญมาก จะทำอย่างไรให้ทุกคนใช้น้ำกันอย่างคุ้มค่าที่สุดในทุกส่วน หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 1 แสนบริษัท และหอการค้าต่างประเทศทั่วโลก มีนโยบายที่จะให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม ลดเหลื่อมล้ำ เพื่อความยั่งยืน” นายกลินทร์กล่าว